เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 4.ฉัพพัสสสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้สมมติสันถัต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสันถัตเพื่อภิกษุผู้เป็นไข้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สมมติสันถัตอย่างนี้”

วิธีสมมติสันถัต
ภิกษุผู้เป็นไข้รูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ กระผม
เป็นไข้ไม่สามารถนำสันถัตติดตัวไปได้ กระผมขอสมมติสันถัตกะสงฆ์’ พึงขอสมมติ
สันถัตแม้ครั้งที่ 2 พึงขอสมมติสันถัตแม้ครั้งที่ 3
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[560] ‘ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เป็นไข้ไม่สามารถนำ
สันถัตติดตัวไปได้ ภิกษุนั้นขอสมมติสันถัตจากสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วก็พึงให้
สมมติสันถัตแก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เป็นไข้ไม่สามารถนำสันถัตติดตัวไป
ได้ ภิกษุนั้นขอสมมติสันถัตจากสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วก็พึงให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุ
ชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
การสมมติสันถัตสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าจะขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[561] อนึ่ง ภิกษุใช้ให้ทำสันถัตใหม่แล้วพึงใช้สอยให้ได้ 6 ปี ถ้าต่ำกว่า
6 ปี เธอจะสละหรือไม่สละสันถัตนั้นก็ตาม ใช้ให้ทำสันถัตอื่นใหม่ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้สมมติ

เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :85 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 4.ฉัพพัสสสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[562] ที่ชื่อว่า ใหม่ พระองค์ตรัสมุ่งเอาการกระทำ
ที่ชื่อว่า สันถัต ได้แก่ ผ้ารองนั่งที่หล่อ ไม่ใช่ทอ
คำว่า ใช้ให้ทำแล้ว คือ ทำเองหรือใช้ให้ทำแล้ว
คำว่า พึงใช้สอยให้ได้ 6 ปี คือ พึงใช้สอยให้ได้ 6 ปีเป็นอย่างน้อย
คำว่า ถ้าต่ำกว่า 6 ปี คือ หย่อนกว่า 6 ปี
คำว่า สละสันถัตนั้น คือ ให้แก่ผู้อื่น
คำว่า ไม่สละ คือ ยังไม่ให้แก่ผู้อื่น
คำว่า เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ
ภิกษุทำเองหรือใช้ให้ทำสันถัตใหม่ ต้องอาบัติทุกกฏเพราะพยายาม สันถัต
เป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละสันถัตที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละสันถัตที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สันถัตผืนนี้ของ
กระผมใช้ให้ทำ หย่อนกว่า 6 ปี เป็นนิสสัคคีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ กระผมสละ
สันถัตผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนสันถัตที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สันถัตผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ
สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้สันถัตผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :86 }