เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 4.ฉัพพัสสสิกขาบท พระบัญญัติ
เป็นผู้มากไปด้วยการขอ เป็นผู้มากไปด้วยการออกปากขอด้วยกล่าวว่า ‘ท่าน
ทั้งหลายจงให้ขนเจียม พวกอาตมาต้องการขนเจียม’ ดังนี้ จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงใช้ให้ทำสันถัตทุก ๆ ปี เป็นผู้มากไปด้วยการ
ขอ เป็นผู้มากไปด้วยการออกปากขอด้วยกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลายจงให้ขนเจียม พวก
อาตมาต้องการขนเจียม’ ดังนี้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[558] ก็ ภิกษุใช้ให้ทำสันถัตใหม่แล้วพึงใช้สอยให้ได้ 6 ปี ถ้าต่ำกว่า
6 ปี เธอจะสละหรือไม่สละสันถัตนั้นก็ตาม ใช้ให้ทำสันถัตอื่นใหม่ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

เรื่องภิกษุเป็นไข้
[559] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้อยู่กรุงโกสัมพี พวกญาติส่งทูตไปสำนัก
ของภิกษุนั้น ให้แจ้งข่าวว่า “นิมนต์พระคุณท่านมาเถิด พวกเราจักอุปัฏฐาก” ภิกษุ
ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ไปเถิด ท่าน พวกญาติจะอุปัฏฐากท่านเอง”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้ว่า ‘ภิกษุใช้ให้ทำสันถัตใหม่แล้วพึงใช้สอยให้ได้ 6 ปี’ กระผมก็เป็นไข้อยู่ ไม่
สามารถนำสันถัตไปได้ ถ้าขาดสันถัตเสียแล้วกระผมจะไม่ผาสุก กระผมจะไม่ไป”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :84 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 4.ฉัพพัสสสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้สมมติสันถัต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสันถัตเพื่อภิกษุผู้เป็นไข้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สมมติสันถัตอย่างนี้”

วิธีสมมติสันถัต
ภิกษุผู้เป็นไข้รูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ กระผม
เป็นไข้ไม่สามารถนำสันถัตติดตัวไปได้ กระผมขอสมมติสันถัตกะสงฆ์’ พึงขอสมมติ
สันถัตแม้ครั้งที่ 2 พึงขอสมมติสันถัตแม้ครั้งที่ 3
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[560] ‘ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เป็นไข้ไม่สามารถนำ
สันถัตติดตัวไปได้ ภิกษุนั้นขอสมมติสันถัตจากสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วก็พึงให้
สมมติสันถัตแก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้เป็นไข้ไม่สามารถนำสันถัตติดตัวไป
ได้ ภิกษุนั้นขอสมมติสันถัตจากสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วก็พึงให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุ
ชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
การสมมติสันถัตสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าจะขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[561] อนึ่ง ภิกษุใช้ให้ทำสันถัตใหม่แล้วพึงใช้สอยให้ได้ 6 ปี ถ้าต่ำกว่า
6 ปี เธอจะสละหรือไม่สละสันถัตนั้นก็ตาม ใช้ให้ทำสันถัตอื่นใหม่ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้สมมติ

เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :85 }