เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 1.โกสิยสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[545] ภิกษุทำสันถัตที่ตนทำค้างไว้จนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
ภิกษุใช้ผู้อื่นให้ทำสันถัตที่ตนทำค้างไว้จนสำเร็จ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุทำสันถัตที่ผู้อื่นทำค้างไว้จนสำเร็จ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุใช้ผู้อื่นให้ทำสันถัตที่ผู้อื่นทำค้างไว้จนสำเร็จ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ภิกษุทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุได้สันถัตที่ผู้อื่นทำไว้มาใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[546] 1. ภิกษุทำเป็นเพดาน เครื่องลาดพื้น ม่าน เปลือกฟูก หรือ
ปลอกหมอน
2. ภิกษุวิกลจริต
3. ภิกษุต้นบัญญัติ

โกสิยสิกขาบทที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :74 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 2.โกสิยวรรค 2.สุทธกาฬกสิกขาบท นิทานวัตถุ
2. โกสิยวรรค

2. สุทธกาฬกสิกขาบท
ว่าด้วยการทำสันถัตโดยใช้ขนเจียมดำล้วน

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[547] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ให้ทำสันถัตขนเจียมดำล้วน1
พวกชาวบ้านเที่ยวไปตามวิหารเห็นเข้าจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงใช้ให้ทำสันถัตขนเจียมดำล้วนเหมือนคฤหัสถ์ที่ยัง
บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง
ใช้ให้ทำสันถัตขนเจียมดำล้วนเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอใช้ให้ทำสันถัต
ขนเจียมดำล้วน จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงใช้ให้ทำ
สันถัตขนเจียมดำล้วนเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ขนเจียม” ในที่นี้คือขนแพะหรือขนแกะ (เอฬกโลม)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :75 }