เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [6.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] 4.จตุตถปาฏิเทสนียสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า รับแจ้งไว้ คือ ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม มาที่อารามหรือ
อุปจารแห่งอารามแล้วบอกว่า “พระคุณเจ้า ทายกทายิกาจะนำของเคี้ยวหรือของฉัน
มาถวายภิกษุชื่อนี้”
ถ้าที่นั้นน่าหวาดระแวง ภิกษุพึงบอกว่า “น่าหวาดระแวง” ถ้าที่นั้นมีภัยน่ากลัว
ภิกษุพึงบอกว่า “มีภัยน่ากลัว”
ถ้าเขาบอกว่า “ไม่เป็นไร ขอรับ เขาจักนำมาเอง” ภิกษุต้องบอกพวกโจรว่า
“พวกชาวบ้านจะเข้ามาที่นี้ พวกท่านจงหลบไป”
เมื่อภิกษุได้รับแจ้งด้วยข้าวต้มแล้ว เขานำเครื่องบริวารข้าวต้มนั้นมาด้วย นี้ชื่อ
ว่าได้รับแจ้งไว้
เมื่อภิกษุได้รับแจ้งด้วยภัตตาหารแล้ว เขานำเครื่องบริวารภัตตาหารนั้นมา
ด้วย นี้ก็ชื่อว่าได้รับแจ้งไว้
เมื่อภิกษุได้รับแจ้งด้วยของเคี้ยวแล้ว เขานำเครื่องบริวารของเคี้ยวนั้นมาด้วย
นี้ก็ชื่อว่าได้รับแจ้งไว้
เมื่อภิกษุได้รับแจ้งเฉพาะตระกูล พวกคนในตระกูลนั้นนำของเคี้ยวของฉันมา
ถวาย นี้ก็ชื่อว่าได้รับแจ้งไว้
เมื่อภิกษุได้รับแจ้งเฉพาะหมู่บ้าน พวกคนในหมู่บ้านนั้นนำของเคี้ยวของฉัน
มาถวาย นี้ก็ชื่อว่าได้รับแจ้งไว้
เมื่อภิกษุได้รับแจ้งเฉพาะสมาคม พวกคนในสมาคมนั้นนำของเคี้ยวของฉัน
มาถวาย นี้ก็ชื่อว่าได้รับแจ้งไว้
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ 5 ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ 5 คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส ข้าวตู ปลา
เนื้อ
ที่ชื่อว่า ในอาราม ได้แก่ สำหรับอารามที่มีรั้วล้อม กำหนดเอาภายใน
อาราม สำหรับอารามที่ไม่มีรั้วล้อม กำหนดเอาอุปจารอาราม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :645 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [6.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] 4.จตุตถปาฏิเทสนียสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้สามารถไปบิณฑบาตฉันได้
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้ไม่สามารถไปบิณฑบาตได้
ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ได้รับแจ้ง รับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[574] ไม่ได้รับแจ้งไว้ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับแจ้งไว้ ไม่เป็นไข้ รับของเคี้ยว
หรือของฉันด้วยมือตนเองในอาราม เคี้ยวหรือฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่ได้รับแจ้งไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่เป็นไข้ รับของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตนเอง
ในอาราม เคี้ยวหรือฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่ได้รับแจ้งไว้ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับแจ้งไว้ ไม่เป็นไข้ รับของเคี้ยวหรือของ
ฉันด้วยมือตนเองในอาราม เคี้ยวหรือฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

ทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อเป็นอาหาร ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
ได้รับแจ้งไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับแจ้งไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ได้รับแจ้งไว้แล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ได้รับแจ้งไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าได้รับแจ้งไว้ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :646 }