เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [6.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] 3.ตติยปาฏิเสนียสิกขาบท พระบัญญัติ
กรรมวาจาให้เสขสมมติ
[563] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ตระกูลชื่อนี้เจริญด้วยศรัทธาแต่
ขาดแคลนทรัพย์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้เสขสมมติแก่ตระกูลชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ตระกูลชื่อนี้เจริญด้วยศรัทธาแต่ขาดแคลน
ทรัพย์ สงฆ์ให้เสขสมมติแก่ตระกูลชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้เสขสมมติแก่
ตระกูลชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
เสขสมมติสงฆ์ให้แก่ตระกูลนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอ
ถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ภิกษุใดรับของเคี้ยวหรือของฉันในตระกูลที่ได้รับสมมติเป็นเสขะเช่นนั้น
ด้วยมือตนเอง แล้วเคี้ยวหรือฉัน ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า “ท่านทั้งหลาย กระผม
ต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าตำหนิ ไม่เป็นสัปปายะ กระผมขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องตระกูลหนึ่ง จบ

เรื่องภิกษุหลายรูป
[564] สมัยนั้น มีมหรสพในกรุงสาวัตถี คนทั้งหลายนิมนต์ภิกษุไปฉัน แม้
ตระกูลนั้นก็ได้นิมนต์ภิกษุเช่นกัน ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง จึงไม่รับนิมนต์ด้วย
คิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการรับของเคี้ยวของฉันในตระกูลที่ได้รับสมมติเป็น
เสขะด้วยมือของตนแล้วฉัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :636 }