เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [6.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] 2.ทุติยปาฏิเทสนียสิกขาบท อนาปัตติวาร
มาตุคามผู้เป็นอุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ไม่ห้ามเธอผู้บงการ
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

ทุกกฏ
มาตุคามผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียวบงการ ภิกษุไม่ห้าม ต้องอาบัติทุกกฏ
มาตุคามผู้เป็นอนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
มาตุคามผู้เป็นอนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
มาตุคามผู้เป็นอนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[561] 1. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารที่ภิกษุณีใช้ให้ถวายของของตน แต่ไม่
ได้ถวายด้วยตนเอง
2. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารที่ภิกษุณีถวายของของผู้อื่น ไม่ได้ใช้ให้
ถวาย
3. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารที่เขายังไม่ถวาย แต่ภิกษุณีใช้ให้ถวาย
4. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารในที่ที่เขายังไม่ถวาย แต่ภิกษุณีใช้ให้
ถวาย
5. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารที่ภิกษุณีใช้ให้ถวายเท่า ๆ กันทุกรูป
6. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารที่สิกขมานาบงการ
7. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารที่สามเณรีบงการ
8. ภิกษุรับแล้วฉันภัตตาหารทุกอย่างยกเว้นโภชนะ 5 ไม่ต้องอาบัติ
9. ภิกษุวิกลจริต
10. ภิกษุต้นบัญญัติ

ทุติยปาฏิเทสนียสิกขาบที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :634 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [6.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] 3.ตติยปาฏิเสนียสิกขาบท นิทานวัตถุ
3. ตติยปาฏิเทสนียสิกขาบท
ว่าด้วยการรับของเคี้ยวของฉันในที่ที่ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ก่อน

เรื่องตระกูลหนึ่ง
[562] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในกรุงสาวัตถี ตระกูลหนึ่งทั้ง 2
ฝ่าย1 มีความเลื่อมใส เจริญด้วยศรัทธา แต่ขาดแคลนทรัพย์ พวกเขาสละของเคี้ยว
ของบริโภคทั้งหมดที่เกิดขึ้นในตระกูลนั้นถวายแก่ภิกษุทั้งหลายจนบางครั้งถึงกับไม่
ได้กินอาหาร
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
จึงรับภัตตาหารโดยไม่รู้จักประมาณเล่า คนเหล่านี้ถวายแก่พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรเหล่านี้จนบางครั้งตนเองถึงกับไม่ได้กินอาหาร”
พวกภิกษุได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ครั้นแล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติตระกูลที่เจริญด้วยศรัทธา
แต่ขาดแคลนทรัพย์ให้เป็นตระกูลเสขะ ด้วยญัตติทุติยกรรม ภิกษุทั้งหลายพึง
ให้เสขสมมติอย่างนี้ คือ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ทั้ง 2 ฝ่าย” คือทั้งอุบาสกและอุบาสิกาเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นโสดาบัน
(วิ.อ. 2/562/444)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :635 }