เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 9.รตนวรรค 6.ตูโลนัทธสิกขาบท นิทานวัตถุ
9. รตนวรรค

6. ตูโลนัทธสิกขาบท
ว่าด้วยการทำเตียงตั่งหุ้มนุ่น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[526] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ให้ทำเตียง
หุ้มนุ่นบ้าง ตั่งหุ้มนุ่นบ้าง1 คนทั้งหลายไปเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็น จึงตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงใช้ให้ทำเตียงหุ้มนุ่นบ้าง
ตั่งหุ้มนุ่นบ้าง เหมือนพวกคฤหัสถ์ที่บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงใช้ให้ทำเตียงหุ้มนุ่นบ้าง ตั่งหุ้มนุ่นบ้างเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอใช้ให้ทำเตียงบ้าง
ตั่งบ้างหุ้มนุ่นจริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงใช้ให้ทำ
เตียงหุ้มนุ่นบ้าง ตั่งหุ้มนุ่นบ้างเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”

เชิงอรรถ :
1 ตูโลนทฺธํ, ตูลํ ปกฺขิปิตฺวา อุปริ จิมิลิกาย โอนทฺธํ ที่ชื่อว่าหุ้มนุ่น คือใส่นุ่นแล้วหุ้มด้านบนด้วยผ้ารองพื้น
(วิ.อ.2/526/439)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :611 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 9.รตนวรรค 6.ตูโลนัทธสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[527] ก็ ภิกษุใดทำเตียง หรือตั่งหุ้มนุ่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ที่ชื่อว่า
อุททาลนกะ1
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[528] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เตียง ได้แก่ เตียง 4 ชนิด คือ (1) เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา
(2) เตียงมีแม่แคร่ติดอยู่กับขา (3) เตียงมีขาดังก้ามปู (4) เตียงมีขาจดแม่แคร่
ที่ชื่อว่า ตั่ง ได้แก่ ตั่ง 4 ชนิด คือ (1) ตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในขา (2) ตั่งมี
แม่แคร่ติดอยู่กับขา (3) ตั่งมีขาดังก้ามปู (4) ตั่งมีขาจดแม่แคร่
ที่ชื่อว่า นุ่น ได้แก่ นุ่น 3 ชนิด คือ (1) นุ่นจากต้นไม้ (2) นุ่นจากเถาวัลย์
(3) นุ่นจากหญ้าเลา
คำว่า ทำ คือ ภิกษุทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ในขณะที่ทำ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะได้มา ต้องรื้อเสียก่อนแล้วแสดงอาบัติ

บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[529] ภิกษุทำเตียงหรือตั่งหุ้มนุ่นที่ตนทำค้างไว้ต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “อุททาลนกะ” เป็นชื่อเฉพาะของอาบัติปาจิตตีย์สิกขาบทนี้ แปลว่า มีการรื้อออก คือ ต้องรื้อออก
เสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :612 }