เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 9.รตนวรรค 1.อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ
ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทราบว่า เธอไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า เข้าไป
พระราชฐานชั้นใน จริงหรือ” ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ อานนท์ ไฉนเธอยังไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า
จึงเข้าไปพระราชฐานชั้นในเล่า อานนท์ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้น
ทรงตำหนิแล้วจึงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

การเข้าเขตพระราชฐานชั้นในมีโทษ 10 อย่าง
[497] “ภิกษุทั้งหลาย ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน มีโทษ 10 อย่าง
นี้ คือ
(1) ภิกษุทั้งหลาย พระราชาประทับอยู่กับพระมเหสีในพระราชฐานชั้นในนี้
ภิกษุเข้าไปในพระราชฐานชั้นในนั้น พระมเหสีเห็นภิกษุแล้วทรงยิ้มให้ หรือภิกษุเห็น
พระมเหสีแล้วยิ้มให้ ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “คนทั้ง 2 นี้ได้ทำ
อะไรกันแล้ว หรือจักทำอะไรกันแน่นอน” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ 1 ในการ
เข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน
(2) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชาทรงมีพระราชกิจมาก มีพระ
กรณียกิจมาก เสด็จไปหาพระสนมคนหนึ่งแล้วทรงลืม พระสนมนั้นตั้งครรภ์เพราะ
การที่พระราชาเสด็จไปหานั้น ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้
นอกจากบรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุ
ทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ 2 ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน
(3) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ของมีค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ในพระราชฐาน
ชั้นในสูญหายไป ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้ นอกจาก
บรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้
เป็นโทษข้อที่ 3 ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :588 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 9.รตนวรรค 1.อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ
(4) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อความลับทางราชการที่ปรึกษาในพระ
ราชฐานชั้นในรั่วไหลออกไปภายนอก ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า
“ในที่นี้ นอกจากบรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต”
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ 4 ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน
(5) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ในพระราชฐานชั้นใน พระราชโอรส
ปรารถนา(ที่จะปลงพระชนม์)พระราชบิดา1 หรือพระราชบิดาปรารถนา(ที่จะปลง
พระชนม์)พระราชโอรส ทั้ง 2 พระองค์จะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้ นอกจาก
บรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้
เป็นโทษข้อที่ 5 ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน
(6) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชาทรงเลื่อนข้าราชการตำแหน่งตํ่าขึ้น
ตำแหน่งสูง พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีอยู่
กับบรรพชิต คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ 6
ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน
(7) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชาทรงลดตำแหน่งข้าราชการที่อยู่ใน
ตำแหน่งสูงลงตำแหน่งตํ่า พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระราชา
ทรงคลุกคลีอยู่กับบรรพชิต คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
โทษข้อที่ 7 ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน
(8) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชารับสั่งให้ยกกองทัพไปในเวลาไม่ควร
พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีอยู่กับบรรพชิต
คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ 8 ในการเข้าไปยัง
พระราชฐานชั้นใน
(9) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชารับสั่งให้ยกกองทัพไปในเวลาอัน
ควรแล้วรับสั่งให้ยกทัพกลับเสียในระหว่างทาง พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิด

เชิงอรรถ :
1 ปรารถนาพระราชบิดา อรรถกถาอธิบายว่า ปิตรํ ปตฺเถตีติ อนฺตรํ ปสฺสิตฺวา ฆาเตตุํ อิจฺฉติ แปลว่า
ต้องการหาช่องทางปลงพระชนม์พระราชบิดา (วิ.อ.2/497/434)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :589 }