เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 8.สหธรรมิกวรรค 1.สหธรรมิกสิกขาบท อนาปัตติวาร
คำว่า ผู้ศึกษา คือ ผู้ใคร่สำเหนียก
คำว่า พึงรู้ คือ พึงทราบ
คำว่า พึงสอบถาม คือ พึงสอบถามว่า “ท่านผู้เจริญ สิกขาบทนี้เป็นอย่างไร
หรือสิกขาบทนี้มีเนื้อความว่าอย่างไร”
คำว่า พึงพิจารณา คือ พึงคิด พึงไตร่ตรอง
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[437] 1. ภิกษุกล่าวว่า “เราจักรู้ จักศึกษา”
2. ภิกษุวิกลจริต
3. ภิกษุต้นบัญญัติ

สหธรรมิกสิกขาบทที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :547 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 8.สหธรรมิกวรรค 2วิเลขนสิกขาบท นิทานวัตถุ
8. สหธรรมิกวรรค

2. วิเลขนสิกขาบท
ว่าด้วยความยุ่งยากแห่งสิกขาบท

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[438] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรง
พรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรณนาคุณแห่ง
พระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณท่านพระอุบาลี
โดยประการต่าง ๆ อย่ากระนั้นเลย ท่านทั้งหลาย พวกเราจะเรียนพระวินัยในสำนัก
ท่านพระอุบาลี”
ภิกษุเหล่านั้นจำนวนมาก เป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ต่างพา
กันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี
ครั้งนั้นแล พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุ
จำนวนมากเป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ต่างพากันเล่าเรียนพระวินัย
ในสำนักท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้รอบรู้พระบัญญัติในพระวินัย ก็จักชักจูงชี้นำ
พวกเราได้ตามที่ปรารถนาในคราวที่ปรารถนาจนพอแก่ความปรารถนา อย่า
กระนั้นเลย ท่านทั้งหลาย พวกเราจะดูหมิ่นพระวินัย” ครั้นแล้วพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้น
แสดงเหล่านี้จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อ
ความยุ่งยาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :548 }