เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 6.เถยยสัตถสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอรู้อยู่ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับ
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ยังชักชวนกัน
เดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[408] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียน
ผู้เป็นโจร โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[409] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น
ที่ชื่อว่า กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ได้แก่ พวกโจรผู้เคยทำการปล้นแล้ว
หรือยังไม่เคยทำการปล้น ผู้ลักของหลวงหรือเลี่ยงภาษี
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนว่า “พวกเราไปกันเถิด ท่าน พวกเราไปกัน
เถิด ท่านผู้เจริญ ไปกันเถิด ท่านผู้เจริญ พวกเราไปกันเถิด ท่าน พวกเราจะไปวันนี้
พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :519 }