เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 6.เถยยสัตถสิกขาบท นิทานวัตถุ
7. สัปปาณกวรรค

6. เถยยสัตถสิกขาบท
ว่าด้วยการเดินทางไกลร่วมกับพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร

เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[407] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พ่อค้าเกวียนกลุ่มหนึ่งต้องการ
จะเดินทางจากกรุงราชคฤห์ไปถิ่นย้อนแสง1 ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับคนเหล่านั้น
ดังนี้ว่า “อาตมาจะเดินทางร่วมไปกับพวกท่าน”
พวกพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า “พระคุณเจ้า พวกกระผมจะเลี่ยงภาษีขอรับ”
เจ้าหน้าที่เก็บภาษีทราบข่าวว่า “พวกพ่อค้าเกวียนจะเลี่ยงภาษี” จึงดักซุ่มใน
หนทาง ครั้นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีจับพวกพ่อค้าเกวียนหมู่นั้น ริบของแล้วได้กล่าวกับ
ภิกษุนั้นว่า “พระคุณเจ้า ท่านรู้อยู่ เหตุไรจึงเดินทางร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้
เป็นโจรเล่า” ไต่สวนแล้วปล่อยไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงกรุงสาวัตถีจึงแจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุ
ทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุรู้อยู่จึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรเล่า” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 ปฏิยาโลกํ ถิ่นย้อนแสง สูริยาโลกํ ปฏิมุขํ คือ ย้อนแสงตะวัน ปจฺฉิมทิสํ ได้แก่ ทิศตะวันตก (วิ.อ.
2/ 407/417) พระวินัยปิฎกฉบับ “PALI TEXT SOCIETY” แปลว่า ถิ่นที่อยู่ทางทิศใต้กรุงราชคฤห์(The
Book of the Discipline, Vol. III, P. 15.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :518 }