เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 5.อูนวีสติวัสสสิกขาบท นิทานวัตถุ
เด็กเหล่านั้นกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ถ้าเจ้าบวช พวกเราก็จะบวชเช่นกัน” ครั้น
แล้วเด็ก ๆ เหล่านั้นต่างคนต่างก็เข้าไปหามารดาบิดาของตน แล้วได้กล่าวขอ
อนุญาตดังนี้ว่า “พ่อแม่โปรดอนุญาตให้พวกลูก ๆ ออกจากเรือนไปบวชเป็น
อนาคาริกเถิด”
มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นอนุญาตด้วยคิดว่า “เด็กพวกนี้ต่างพร้อมใจ มี
ความปรารถนาสิ่งที่ดีงามทุกคน” พวกเด็กเหล่านั้นจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย ขอ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลายให้เด็กพวกนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว
ครั้นเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ภิกษุใหม่เหล่านั้นลุกขึ้นร้องไห้ว่า “ท่านทั้งหลาย
โปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยว”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายรอให้สว่างเสียก่อน ถ้ามีข้าวต้ม
พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีข้าวสวย พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีของเคี้ยว พวกเธอก็จะได้เคี้ยว
แต่ถ้าข้าวต้ม ข้าวสวย หรือของเคี้ยวไม่มี พวกเธอต้องเที่ยวบิณฑบาตมาฉัน”
ภิกษุใหม่เหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังพากันร้องไห้ว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยวเถิด” พากันถ่าย
อุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง รดเสนาสนะ
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียงเด็ก
ครั้นได้ทรงสดับแล้วจึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เสียงเด็กร้องไห้เพราะ
สาเหตุใดหรือ”
ทีนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุรู้อยู่ก็ยังอุปสมบทให้
บุคคลอายุหย่อนกว่า 20 ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :514 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 5.อูนวีสติวัสสสิกขาบท พระบัญญัติ
รู้อยู่ก็ยังอุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า 20 ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มี
อายุหย่อนกว่า 20 ปี ยังไม่อดทน ไม่อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว
ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่
ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่า
ยินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอายุครบ 20 ปี1 จึงจะ
อดทน อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ
ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่
เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ได้ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[403] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ อุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า 20 ปี บุคคล
นั้นไม่เป็นอันอุปสมบท และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ ภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์นี้2
เรื่องเด็กชายอุบาลี จบ

เชิงอรรถ :
1 ที่ชื่อว่า อายุครบ 20 ปี นั้นกำหนดนับเอาตั้งแต่วันที่ถือปฏิสนธิ จิตดวงแรกเกิดในครรภ์มารดา (วิ.อ.
2/404/415-6)
2 โส จ ปุคฺคโล อนุปสมฺปนฺโนติ ชานนฺเตนาปิ อชานนฺเตนาปิ อุปสมฺปาทิโต อนุปสมฺปนฺโนว. เต จ ภิกฺขู
คารยฺหาติ ฐเปตฺวา อุปชฺฌายํ อวเสสา คารยฺหา โหนฺติ, สพฺเพ ทุกฺกฏํ อาปชฺชติ. อิทํ ตสฺมึ ปาจิตฺติยนฺติ
โย ปน อุปชฺฌาโย หุตฺวา อุปสมฺปาเทติ, ตสฺมึเยว ปุคฺคเล อิทํ ปาจิตฺติยํ เวทิตพฺพํ
คำว่า “บุคคลนั้นไม่เป็นอันอุปสมบท” คือ ผู้ที่พระอุปัชฌาย์พร้อมการกสงฆ์ ซึ่งรู้อยู่ก็ดี ไม่รู้ก็ดี
อุปสมบทให้แล้ว ก็ไม่เป็นอันได้รับการอุปสมบทเลย คำว่า “และภิกษุเหล่านั้นควรได้รับการตำหนิ” คือ ยก
เว้นพระอุปัชฌาย์แล้ว ภิกษุที่เหลือสมควรถูกตำหนิ ทุกรูปต้องอาบัติทุกกฏ คำว่า “ภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์นี้” คือ ภิกษุรูปที่เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้นั่นแหละต้องอาบัติปาจิตตีย์ (กงฺขา.อ. 289)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :515 }