เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 3.อุกโกฏนสิกขาบท นิทานวัตถุ
7. สัปปาณวรรค

3. อุกโกฏนสิกขาบท
ว่าด้วยการรื้อฟื้นอธิกรณ์ขึ้นมาพิจารณาใหม่

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[392] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ รื้อฟื้น
อธิกรณ์ที่ได้ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่ด้วยกล่าวว่า “กรรมยังไม่ได้ทำ
กรรมทำไม่ดี พึงทำใหม่ กรรมนั้นยังไม่ได้ตัดสิน กรรมนั้นตัดสินไม่ดี พึงตัดสินใหม่”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ยังขืนรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ รื้อฟื้น
อธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่ยังขืนรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้อง
เพื่อพิจารณาใหม่เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :506 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 3.อุกโกฏนสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[393] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้อง เพื่อ
พิจารณาใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[394] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือคนนั้นบอก
ที่ชื่อว่า อย่างถูกต้อง คือ อธิกรณ์ที่ตัดสินโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์
ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ 4 คือ (1) วิวาทาธิกรณ์ (2) อนุวาทาธิกรณ์
(3) อาปัตตาธิกรณ์ (4) กิจจาธิกรณ์
คำว่า รื้อฟื้น...เพื่อพิจารณาใหม่ คือ ภิกษุรื้อฟื้นด้วยกล่าวว่า “กรรมยัง
ไม่ได้ทำ กรรมทำไม่ดี พึงทำใหม่ กรรมนั้นยังไม่ได้ตัดสิน กรรมนั้นตัดสินไม่ดี พึง
ตัดสินใหม่” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[395] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง รื้อฟื้น ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ รื้อฟื้น ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง รื้อฟื้น ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :507 }