เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 6.สุราปานวรรค รวมสิกขาบทที่มีในสุราปานวรรค
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[381] 1. ภิกษุไม่ประสงค์จะล้อเล่น
2. ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี
3. ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังจะสั่งสอนแล้วคืนให้
4. ภิกษุวิกลจริต
5. ภิกษุต้นบัญญัติ

จีวรอปนิธานสิกขาบทที่ 10 จบ
สุราปานวรรคที่ 6 จบ

รวมสิกขาบทที่มีในสุราปานวรรค
สุราปานวรรคมี 10 สิกขาบท คือ

1. สุราปานสิกขาบท ว่าด้วยการดื่มสุราและเมรัย
2. อังคุลิปโตทกสิกขาบท ว่าด้วยการใช้นิ้วมือจี้กันและกัน
3. หัสสธัมมสิกขาบท ว่าด้วยการเล่นน้ำ
4. อนาทริยสิกขาบท ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อต่อคำตักเตือน
5. ภิงสาปนสิกขาบท ว่าด้วยการทำให้ตกใจ
6. โชติกสิกขาบท ว่าด้วยการก่อไฟผิง
7. นหานสิกขาบท ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย
8. ทุพพัณณกรณสิกขาบท ว่าด้วยการทำจีวรใหม่ให้เสียสี
9. วิกัปปนสิกขาบท ว่าด้วยการวิกัปจีวร
10. จีวรอปนิธานสิกขาบท ว่าด้วยการซ่อนจีวร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :500 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 7.สัปปาณกวรรค 1.สัญจิจจสิกขาบท นิทานวัตถุ
7. สัปปาณกวรรค
หมวดว่าด้วยสัตว์มีชีวิต

1. สัญจิจจสิกขาบท
ว่าด้วยความจงใจปลงชีวิตสัตว์

เรื่องพระอุทายี
[382] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นนักยิงธนู1
และท่านไม่ชอบอีกา ท่านจึงยิงอีกาทั้งหลายแล้วตัดหัวมาเสียบหลาวเรียงไว้
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ใครฆ่าอีกาเหล่านี้”
ท่านพระอุทายีตอบว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมเอง กระผมไม่ชอบอีกา”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุทายีจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า ฯลฯ” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุทายี
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอจงใจปลงชีวิตสัตว์ จริงหรือ” ท่าน
พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิ
ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 สมัยเป็นคฤหัสถ์ ท่านพระอุทายีเป็นนักแม่นธนู เชี่ยวชาญในศิลปะการใช้ธนู และเป็นอาจารย์ของนัก
แม่นธนูด้วย (วิ.อ. 2/382/411, สารตฺถ.ฏีกา 3/382/103)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :501 }