เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 7.ตตุตตริสิกขาบท พระบัญญัติ
พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิ ประณาม โพนทะนาของชาวบ้าน บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไม่รู้
จักประมาณ ออกปากขอจีวรเป็นอันมากเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไม่รู้จักประมาณ
ขอจีวรเป็นอันมาก จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงไม่
รู้จักประมาณขอจีวรจำนวนมากเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[523] ถ้าคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ นำจีวรจำนวนมากมา
ปวารณาภิกษุนั้น1 ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่าง
มากจากจีวรที่เขานำมานั้น ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
1 พหูหิ จีวเรหิ อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย ที่แปลว่า “นำจีวรจำนวนมากมาปวารณา” เป็นไปตามกฎนี้ : อภิหฏฺฐุํ
อภิ+หร+ตฺวา (ตฺวาปัจจัย) โดยสูตรว่า กิจฺจตการตุํตฺวาทีนญฺจ รฏฺฐรฏฺฐุํรฏฺฐาเทสา - รูป. 609 (แปลง
ต ในกิจจปัจจัยเป็น ฏฺฐ แปลง ตุํ-ตฺวา ปัจจัยเป็นต้นเป็น ฏฺฐุํ ฏฺฐ) อรรถกถาวินัยก็อธิบายทำนอง
นี้ว่า “อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา”ติ อภิหริตฺวา ปวาเรยฺยาติ อตฺโถ. (คำว่า อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา มีอธิบายว่า
นำมาปวารณา วิ.อ. 2/522-4/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :47 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 7.ตตุตตริสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[524] คำว่า ถ้า...ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ถูกโจรชิงจีวรไป
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน
คำว่า จีวรจำนวนมาก คือ จีวรหลายผืน
คำว่า นำ...มาปวารณา คือ นำมาปวารณาว่า ท่านจงรับจีวรตามที่
ปรารถนาเถิด
คำว่า ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่างมากจาก
จีวรที่เขานำมานั้น ความว่า ถ้าจีวรหาย 3 ผืน เธอพึงยินดี 2 ผืน จีวรหาย
2 ผืน พึงยินดี 1 ผืน หายผืนเดียวไม่พึงยินดี
คำว่า ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุออกปากขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏเพราะพยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์
แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผม
เข้าไปหาคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ แล้วออกปากขอเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละ
จีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ
สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :48 }