เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 7.ตตุตตริสิกขาบท พระบัญญัติ
พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิ ประณาม โพนทะนาของชาวบ้าน บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไม่รู้
จักประมาณ ออกปากขอจีวรเป็นอันมากเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไม่รู้จักประมาณ
ขอจีวรเป็นอันมาก จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงไม่
รู้จักประมาณขอจีวรจำนวนมากเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[523] ถ้าคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ นำจีวรจำนวนมากมา
ปวารณาภิกษุนั้น1 ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นอย่าง
มากจากจีวรที่เขานำมานั้น ถ้ายินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
1 พหูหิ จีวเรหิ อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย ที่แปลว่า “นำจีวรจำนวนมากมาปวารณา” เป็นไปตามกฎนี้ : อภิหฏฺฐุํ
อภิ+หร+ตฺวา (ตฺวาปัจจัย) โดยสูตรว่า กิจฺจตการตุํตฺวาทีนญฺจ รฏฺฐรฏฺฐุํรฏฺฐาเทสา - รูป. 609 (แปลง
ต ในกิจจปัจจัยเป็น ฏฺฐ แปลง ตุํ-ตฺวา ปัจจัยเป็นต้นเป็น ฏฺฐุํ ฏฺฐ) อรรถกถาวินัยก็อธิบายทำนอง
นี้ว่า “อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา”ติ อภิหริตฺวา ปวาเรยฺยาติ อตฺโถ. (คำว่า อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺยา มีอธิบายว่า
นำมาปวารณา วิ.อ. 2/522-4/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :47 }