เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 5.อเจลกวรรค 10.อุยโยธิกสิกขาบท นิทานวัตถุ
5. อเจลกวรรค

10. อุยโยธิกสิกขาบท
ว่าด้วยการไปดูสนามรบ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[322] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พักแรมอยู่ใน
กองทัพ 2-3 คืน ไปที่สนามรบบ้าง ที่พักพลบ้าง ที่จัดขบวนทัพบ้าง ไปดูกองทัพที่
จัดเป็นขบวนแล้วบ้าง ภิกษุฉัพพัคคีย์รูปหนึ่งไปที่สนามรบ ถูกยิงด้วยลูกศร
พวกชาวบ้านพากันเยาะเย้ยว่า “เป็นอย่างไรพระคุณเจ้า ท่านรบสนุกไหม
ท่านชนะได้กี่แต้ม”
ภิกษุนั้นถูกเยาะเย้ยจนเก้อเขิน
พวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงเที่ยวดูสนามรบเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ไม่ดี ที่พวก
เรามาสนามรบก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง
ไปเที่ยวดูสนามรบเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไปเที่ยวดูสนาม
รบ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงเที่ยวไปดูสนามรบเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :458 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 5.อเจลกวรรค 10.อุยโยธิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[323] ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ 2-3 คืน เที่ยวไปในสนามรบก็ดี ที่
พักพลก็ดี ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[324] คำว่า ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ 2-3 คืน คือ ภิกษุพักแรมอยู่
2-3 คืน
ที่ชื่อว่า สนามรบ ได้แก่ สถานที่รบซึ่งปรากฏอยู่
ที่ชื่อว่า ที่พักพล ได้แก่ กองช้างประมาณเท่านี้ กองม้าประมาณเท่านี้
กองรถประมาณเท่านี้ กองพลเดินเท้าประมาณเท่านี้
ที่ชื่อว่า ที่จัดขบวนทัพ ได้แก่ กองช้างจงอยู่ทางนี้ กองม้าจงอยู่ทางนี้
กองรถจงอยู่ทางนี้ กองพลเดินเท้าจงอยู่ทางนี้
ที่ชื่อว่า กองทัพ ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพล
เดินเท้า
กองทัพช้างมีช้าง 3 เชือกเป็นอย่างน้อย กองทัพม้ามีม้า 3 ตัวเป็นอย่างน้อย
กองทัพรถมีรถ 3 คันเป็นอย่างน้อย กองทัพพลเดินเท้ามีทหารถือธนู 4 นายเป็น
อย่างน้อย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :459 }