เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 5.อเจลกวรรค 4.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท นิทานวัตถุ
5. อเจลกวรรค

4. รโหปฏิจฉันนสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับมีสิ่งกำบัง

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[284] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับภรรยาของสหาย
ครั้งนั้น สหายนั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท
ศากยบุตรจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับภรรยาของกระผมเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นตำหนิ ประณาม
โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคามเล่า” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งบนอาสนะที่
กำบังในที่ลับกับมาตุคาม จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง
นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคามเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :431 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 5.อเจลกวรรค 4.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[285] ก็ ภิกษุใดนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคาม ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[286] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย หญิงมนุษย์นั้นโดยที่สุดกระทั่งเด็กหญิงซึ่งเกิดในวันนั้น หญิง
โตกว่านี้ไม่ต้องกล่าวถึง
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและที่ลับหู
ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้วหรือผงกศีรษะ
ขึ้น ใคร ๆ ก็ไม่สามารถแลเห็นได้
ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตาม
ปกติได้
อาสนะที่ชื่อว่า ที่กำบัง คือ อาสนะที่กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน
ม่าน ต้นไม้ เสา หรือพ้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทั้งภิกษุและมาตุคามนั่งหรือนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :432 }