เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 6.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ภิกษุชาวเมืองสาเกตกล่าวอย่างนี้ว่า “พวกกระผมไม่ใช่อาชีวก พวกกระผม
เป็นภิกษุ”
ภิกษุชาวกรุงสาวัตถีได้กล่าวกับพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี นิมนต์ท่านไต่สวน
ภิกษุเหล่านี้เถิด” เมื่อภิกษุเหล่านั้นถูกพระอุบาลีไต่สวน จึงเล่าเรื่องนั้นให้ทราบ
ครั้นไต่สวนแล้ว พระอุบาลีแจ้งว่า “พวกเปลือยกายเหล่านี้เป็นภิกษุ จงให้จีวร
แก่พวกเธอ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงเปลือยกายเดินมาเล่า ตามธรรมดาภิกษุต้องใช้หญ้าหรือใบไม้ปกปิดเดิน
มา มิใช่หรือ” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ขอจีวรได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ถูกโจรชิงจีวร หรือจีวรหาย
ออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติได้ ถ้าวัดที่ภิกษุไปถึง
ก่อน มีจีวรประจำวิหาร ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้นหรือผ้าปลอกฟูกของสงฆ์ ก็พึงถือเอา
ผ้าของสงฆ์ไปห่มโดยตั้งใจว่า ‘เมื่อเราได้จีวรแล้วจะนำมาคืน’ ดังนี้ก็ควร ถ้าไม่มีจีวร
ประจำวิหาร ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้นหรือผ้าปลอกฟูกของสงฆ์ ควรใช้หญ้าหรือใบไม้
ปกปิดมา อนึ่ง ภิกษุไม่พึงเปลือยกายเดินมา ภิกษุใดเปลือยกายเดินมา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[518] อนึ่ง ภิกษุใดออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้
ไม่ใช่ญาติ นอกสมัย ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ ภิกษุถูก
ชิงจีวรไป หรือจีวรสูญหาย นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
เรื่องภิกษุถูกชิงจีวร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :42 }