เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 9.ปณีตโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุเป็นไข้
[258] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการ
ไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุผู้เป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ”
พวกภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมออกปากขอโภชนะอันประณีต
มาเพื่อตนแล้วฉัน ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้” จึงไม่ออกปากขอ ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะอันประณีตได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะ
อันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[259] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้
คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อ
ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :411 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 9.ปณีตโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[260] คำว่า โภชนะอันประณีต ความว่า ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่
ทำจากน้ำนมโค เนยใสที่ทำจากน้ำนมแพะ เนยใสที่ทำจากน้ำนมกระบือ หรือเนยใส
ที่ทำจากน้ำนมสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้น
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดพันธุ์
ผักกาด น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดมะซาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันที่ทำจาก
เปลวสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได่แก่ น้ำหวานของแมลงผึ้ง
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำหวานที่เกิดจากอ้อย
ที่ชื่อว่า ปลา ท่านกล่าวถึงสัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ
ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือหรือน้ำนมของสัตว์
ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้น
คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า โภชนะอันประณีตเช่นนี้ ได้แก่ โภชนะอันประณีตดังกล่าว
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็เป็นอยู่ผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต จะไม่มีความผาสุก
ภิกษุไม่เป็นไข้ออกปากขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ครั้งที่พยายาม
ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จะฉันของที่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :412 }