เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 6.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท นิทานวัตถุ
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า “ถ้าโยมต้องการถวายแก่อาตมา ก็
จงถวายผ้าผืนหนึ่งจากผ้าที่โยมนุ่งห่มอยู่นี้”
เขากล่าวว่า “กระผมเป็นกุลบุตร จะนุ่งผ้าผืนเดียวเดินกลับบ้าน ดูจะไม่เหมาะ
นิมนต์รอให้กระผมกลับไปถึงบ้านก่อน แล้วกระผมจะส่งผ้า 1 ผืนจาก 2 ผืนนี้
หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรพูดเป็นครั้งที่ 2 ว่า “ถ้าโยมต้องการถวายแก่
อาตมา ก็จงถวายผ้าผืนหนึ่งจากผ้าที่โยมนุ่งห่มอยู่นี้” บุตรเศรษฐีก็ยังกล่าวปฏิเสธ
อยู่เหมือนเดิมว่า “กระผมเป็นกุลบุตร จะนุ่งผ้าผืนเดียวเดินกลับบ้าน ดูจะไม่เหมาะ
นิมนต์ท่านรอให้กระผมกลับไปถึงบ้านก่อน แล้วกระผมจะส่งผ้า 1 ผืนจาก 2 ผืนนี้
หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรก็พูดรบเร้าเป็นครั้งที่ 3 ว่า
“ถ้าโยมต้องการถวายแก่อาตมา ก็จงถวายผ้าผืนหนึ่งจากผ้าที่โยมนุ่งห่มอยู่นี้” แต่
เขาก็คงพูดบ่ายเบี่ยงอยู่เหมือนเดิมว่า “กระผมเป็นกุลบุตร จะนุ่งผ้าผืนเดียวเดินกลับ
บ้าน ดูจะไม่เหมาะ นิมนต์ท่านรอให้กระผมกลับไปถึงบ้านก่อน แล้วกระผมจะส่ง
ผ้า 1 ผืนจาก 2 ผืนนี้หรือผ้าที่ดีกว่านี้มาถวาย”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า “ท่านไม่ต้องการถวาย ก็จะปวารณาไป
ทำไม ปวารณาแล้วไม่ถวาย จะมีประโยชน์อะไร”
เมื่อถูกท่านพระอุปนันทศากยบุตรพูดรบเร้า เขาจึงถวายผ้า 1 ผืน แล้วกลับไป
ถูกชาวบ้านถามว่า “นาย ทำไมนุ่งผ้าผืนเดียวกลับมาเล่า” บุตรเศรษฐีนั้นจึงบอก
เรื่องนั้นให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบ
ชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
มักมากไม่สันโดษ สมณะเหล่านี้แม้จะนิมนต์ตามธรรมเนียม ก็ไม่ใช่กระทำได้ง่าย
ไฉนเมื่อบุตรเศรษฐีทำการนิมนต์ตามธรรมเนียม พระสมณะทั้งหลายก็ยังจะรับเอา
ผ้าไปเล่า”
พวกภิกษุได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
สันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระอุปนันทศากยบุตรจึง
ออกปากขอจีวรจากบุตรเศรษฐีเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากย
บุตร โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :40 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 6.อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท พระบัญญัติ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอออกปากขอจีวรจาก
บุตรเศรษฐี จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ บุตรเศรษฐีเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์
ทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ เธอนั้นออกปากขอจีวรจากบุตร
เศรษฐีผู้ไม่ใช่ญาติเชียวหรือ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[516] ก็ ภิกษุใดออกปากขอจีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิง
ผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

เรื่องภิกษุถูกชิงจีวร
[517] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี ใน
ระหว่างทาง พวกโจรออกมาปล้นภิกษุเหล่านั้น พวกเธอคิดว่า “การออกปากขอ
จีวรจากคฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิง พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้แล้ว” จึงรังเกียจ
ไม่ยอมออกปากขอจีวรเลย เปลือยกายไปถึงกรุงสาวัตถี ไหว้ภิกษุทั้งหลาย พวก
ภิกษุจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาชีวกที่พากันไหว้ภิกษุเหล่านี้ เป็นพวก
อาชีวกที่ดี”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :41 }