เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 4.กาณมาตุสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[232] ก็ ทายกนำขนมหรือข้าวตู1 มาปวารณาภิกษุผู้เข้าไปถึงตระกูล
ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม 2-3 บาตร ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ครั้นรับเต็ม 2-3 บาตรแล้ว เมื่อนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุ
ทั้งหลาย นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องพ่อค้าเกวียน จบ

สิกขาบทวิภังค์
[233] คำว่า ก็...ภิกษุผู้เข้าไปถึงตระกูล ที่ชื่อว่าตระกูล ได้แก่ ตระกูล 4
คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
คำว่า ผู้เข้าไปถึง คือ ผู้เข้าไปในตระกูลนั้น
ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมเพื่อส่งไปเป็น
ของกำนัล
ที่ชื่อว่า ข้าวตู ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมเป็นเสบียงทาง
คำว่า ทายกนำมาปวารณา คือ เขานำมาปวารณาว่า “ท่านโปรดรับตาม
ต้องการ”
คำว่า ผู้ต้องการ คือ ผู้ปรารถนาได้

เชิงอรรถ :
1 มนฺถ ข้าวตู หมายถึง อพทฺธสตฺตุนา จ ... พทฺธสตฺตุนา จ ข้าวตูก้อน ข้าวตูป่น (วิ.อ. 3/11) สตฺตุ
นาม สาลิวีหิยเวหิ กตสตฺตุ. กงฺคุวรกกุทฺรูสกสีสานิปิ ภชฺชิตฺวา อีสกํ โกฏฺเฏตฺวา ถุเส ปลาเปตฺวา
ปุน ทฬฺหํ โกฏฺเฏตฺวา จุณฺณํ กโรนฺติ. สเจปิ ตํ อลฺลตฺตา เอกาพทฺธํ โหติ สตฺตุสงฺคหเมว คจฺฉติ.
ขรปากภชฺชิตานํ วีหีนํ ตณฺฑุเล โกฏฺเฏตฺวา เทนฺติ, ตมฺปิ จุณฺณํ สตฺตุสงฺคหเมว คจฺฉติ. ข้าวตู หรือ
ข้าวสัตตุ ทำด้วยข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ที่เขาเด็ดรวงธัญชาติ 3 อย่าง คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้
มาตำนิดหน่อยแล้วฝัดแกลบออกแล้วตำอีกจนป่น ซึ่งถ้ายังชุ่มอยู่จะจับเป็นก้อน นี้ก็จัดเป็นข้าวตูเหมือน
กัน และที่เขาตำข้าวเปลือกแก่เป็นข้าวสารจนป่น นี้ก็จัดเป็นข้าวตูเช่นกัน (วิ.อ. 2/232/360)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :390 }