เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 2.คณโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[220] 1. ภิกษุฉันในสมัย
2. ภิกษุ 2-3 รูปฉันร่วมกัน
3. ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาตแล้วประชุมฉันร่วมกัน
4. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์
5. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก
6. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
7. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
8. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท1
9. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะ 5
10. ภิกษุวิกลจริต
11. ภิกษุต้นบัญญัติ

คณโภชนสิกขาบทที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 วันปาฏิบท คือวันแรม 1 ค่ำ ทายกคิดว่าวันอุโบสถมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสถวายภัตตาหารกันมาก ส่วนวันแรม
1 ค่ำ ภิกษุทั้งหลายลำบากเรื่องภัตตาหาร ทานที่ถวายในวันปาฏิบท เป็นการถวายภิกษาหารที่หาได้ยาก
อีกประการหนึ่ง ภิกษุสงฆ์ลงปาติโมกข์แล้ววันรุ่งขึ้นจึงมีศีลบริสุทธิ์ การถวายทานแก่ท่านย่อมมีผลานิสงส์
มาก การถวายทานในวันปาฏิบท คือถวายถัดจากวันขึ้น 15 ค่ำ ไปหนึ่งวัน (วิ.อ.3/377-378)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :378 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 3.ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
4. โภชนวรรค

3. ปรัมปรโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันปรัมปรโภชนะ

เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน
[221] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พวกชาวบ้านจัดลำดับวาระถวายภัตตาหารอย่าง
ประณีตไว้ใน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น ชายกรรมกรยากจนคนหนึ่งได้มีความคิดดังนี้ว่า
ทานนี้ไม่ใช่เป็นของต่ำต้อย1 เพราะพวกชาวบ้านเหล่านี้ได้ช่วยกันจัดภัตตาหารโดย
เคารพ เอาเถิด แม้ตัวเราก็พึงจัดภัตตาหารบ้าง
ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปหานายจ้างชื่อกิรปติกะถึงที่อยู่
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับนายกิรปติกะดังนี้ว่า “นายท่าน กระผมต้องการจัดภัตตาหาร
ถวายภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ท่านกรุณาให้ค่าจ้างแก่กระผมด้วย”
นายกิรปติกะมีศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้วจึงได้ให้ค่าจ้างแก่เขามากกว่าปกติ
ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ชายกรรมกรผู้
ยากจนคนนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอ
พระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อฉันใน
วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก ท่านจงทราบ”
ชายกรรมกรผู้ยากจนกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ถึงภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก
ก็ไม่เป็นไร ข้าพระพุทธเจ้าจัดเตรียมผลพุทราไว้มากมาย น้ำพุทรามีเพียงพอ”

เชิงอรรถ :
1 อีกนัยหนึ่ง ศาสนานี้หรือการถวายทานพระสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนี้ มิใช่เรื่องต่ำต้อย คือมิใช่
เรื่องเล็กน้อยเลวทราม (วิ.อ. 2/221/352)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :379 }