เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 2.คณโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมก็เป็นบรรพชิต ข้าพเจ้าก็เป็นบรรพชิต บรรพชิตควรจะรับ
ภัตตาหารของบรรพชิต ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอาชีวกทราบว่าพระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงถวายอภิวาทแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็น
ภัตตาหารของสมณะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[217] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยใน
ข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล
สมัยที่โดยสารเรือ มหาสมัย สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ นี้เป็นสมัยใน
ข้อนั้น

สิกขาบทวิภังค์
[218] ที่ชื่อว่า ฉันคณโภชนะ คือ ภิกษุ 4 รูปที่เขานิมนต์ด้วยโภชนะ 5
อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไปฉัน นี้ชื่อว่าฉันคณโภชนะ1
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ที่สุดแม้กระทั่งเท้าแตก ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่
เป็นไข้ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้วมีกำหนดเวลา 5 เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ถวาย
จีวร พึงฉันได้

เชิงอรรถ :
1 คณโภชนํ ฉันคณโภชนะ คือ คณสฺส โภชเน ฉันโภชนะ(อาหาร)ของคณะ (วิ.อ. 2/217-218/346),
คเณน ลทฺธตฺตา คณสฺส สนฺตเก โภชเน ฉันโภชนะที่เป็นของคณะซึ่งคณะได้มา (กงฺขา.ฏีกา 402)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :376 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 2.คณโภชนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำ
จีวร พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า เราจะเดินทางครึ่งโยชน์ พึงฉัน
ได้ เมื่อภิกษุนั้นไป พึงฉันได้ กลับมาถึงแล้ว พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่โดยสารเรือ คือ ภิกษุคิดว่า เราจะโดยสารเรือ พึงฉันได้
เมื่อภิกษุนั้นโดยสารไป พึงฉันได้ ขากลับ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า มหาสมัย คือ คราวมีภิกษุ 2-3 รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน เมื่อ
มีภิกษุรูปที่ 4 มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่า เป็นมหาสมัย พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ คือ ในคราวมีปริพาชกจัดภัตตาหาร
ถวาย ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ พึงฉันได้
ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[219] คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :377 }