เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 2.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะ1
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเทวทัต จบ

เรื่องภิกษุเป็นไข้
[210] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุเป็นไข้ฉันภัตตาหาร ภิกษุ
เหล่านั้นมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับ
นิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันคณโภชนะได้”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

เชิงอรรถ :
1 การฉันคณโภชนะ มีได้ 2 กรณี (1) ทายกนิมนต์ไปฉัน (2) ภิกษุออกปากขอภัตตาหารมาฉัน (วิ.ป.8/
322/261) คือทายกนิมนต์ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปพร้อมกันไปฉันโดยออกชื่ออาหาร ภิกษุไปพร้อมกัน
รับประเคนพร้อมกัน ฉันพร้อมกัน แต่ถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ ถ้ารับประเคนแยกกัน
ไม่ต้องอาบัติ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยทายกนิมนต์ และอีกกรณีหนึ่ง ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ยืนหรือนั่ง
อยู่ด้วยกันเห็นอุบาสกแล้วออกปากขอว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมาทั้ง 4 รูป หรือเห็นต่างคราว
กัน แล้วต่างออกปากขอร่วมกัน หรือต่างคราวกันว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมา ท่านจงถวาย
ภัตตาหารแก่อาตมา แล้วจะไปพร้อมกัน หรือไปแยกกัน จะรับประเคนภัตตาหารแล้วฉันพร้อมกัน หรือ
แยกกันฉันก็ตาม ต้องอาบัติเพราะถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยการ
ออกปากขอ (วิ.อ.2/217-8/346-7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :371 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 4.โภชนวรรค 2.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[211] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ
ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า “พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉัน
แล้วจะให้ครองจีวร”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวาย
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ
สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[212] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ
ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่
รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำ
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :372 }