เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 9.ปริปาจิตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[193] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งบวชจากกรุงราชคฤห์ ได้เดินทางไปตระกูลญาติ
พวกชาวบ้านถวายภัตตาหารด้วยความดีใจว่า นาน ๆ พระคุณเจ้าจึงมา ภิกษุณีผู้
ใกล้ชิดตระกูลของตระกูลนั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวาย
ภัตตาหารแก่พระคุณเจ้า”
ทีนั้น ภิกษุนั้นมีความยำเกรงว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภิกษุผู้รู้อยู่ฉัน
บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม จึงไม่ยอมรับประเคน ไม่สามารถไปเที่ยว
บิณฑบาต ได้อดอาหาร ครั้นไปอารามจึงบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น
จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน เราอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้รู้อยู่ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียมได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[194] อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[195] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :358 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 9.ปริปาจิตสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง ผู้อื่นบอกให้ภิกษุนั้นรู้ หรือภิกษุณีบอก
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย
ที่ชื่อว่า แนะนำให้จัดเตรียม คือ เขาไม่ประสงค์จะถวาย หรือไม่ประสงค์
จะกระทำแต่แรก ภิกษุณีกล่าวว่า “พระคุณเจ้าเป็นนักสวด พระคุณเจ้าเป็นพหูสูต
พระคุณเจ้าเป็นผู้ชำนาญพระสูตร พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงวินัย พระคุณเจ้าเป็น
ธรรมกถึก ท่านทั้งหลายจงถวายแก่พระคุณเจ้า จงทำถวายแก่พระคุณเจ้า” อย่างนี้
ชื่อว่าแนะนำให้จัดเตรียม
ที่ชื่อว่า บิณฑบาต ได้แก่ โภชนะ 5 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน คือ ยกเว้นที่คฤหัสถ์
ริเริ่มไว้
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ปรารภไว้ คือ เขาเป็นญาติ เป็นผู้ปวารณาภิกษุไว้ หรือ
ของเขาจัดแจงไว้ตามปกติ
[196] ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่าจะฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน

บทภาชนีย์
บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุสำคัญว่าภิกษุณีแนะนำให้จัด
เตรียม ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุไม่แน่ใจ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เว้นไว้แต่ภัตตาหารที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
บิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้จัดเตรียม ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แนะนำให้จัดเตรียม
ฉัน ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :359 }