เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 5.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สหธรรมิก 5 คือ ภิกษุ ภิกษุณี
สิกขมานา สามเณร และสามเณรี แลกเปลี่ยนจีวรกันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้รับสิ่งของแลกเปลี่ยนของสหธรรมิก 5 เหล่านี้ได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[511] อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน
เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[512] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร 6 ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน คือ ยกเว้นแลกเปลี่ยนกัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :35 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 5.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุรับ ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะพยายาม1 จีวรเป็นนิสสัคคีย์ เพราะได้มา คือ
เป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้กระผมรับ
มาจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวร
ผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวร
ผืนนี้กระผมรับมาจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ โดยมิได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นนิสสัคคีย์
กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”

เชิงอรรถ :
1 เพราะเหยียดมือรับเป็นต้น (คหณตฺถาย หตฺถปฺปสารณาทีสุ ทุกฺกฏํ - วิ.อ. 2/512/170)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :36 }