เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 7.สังวิธานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระอนุบัญญัติ
[182] อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับภิกษุณี โดยที่สุด
แม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ
เป็นหนทางที่จะพึงไปด้วยกองเกวียน ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัว นี้
เป็นสมัยในข้อนั้น
เรื่องภิกษุและนางภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[183] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนกันว่า พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวกเรา
ไปกันเถิด พระคุณเจ้า ไปกันเถิด พระคุณเจ้า พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวก
เราจะไปวันนี้ พรุ่งนี้ หรือวันมะรืนนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
คำว่า โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านหนึ่งกำหนดชั่วไก่บิน
ตก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ กึ่งโยชน์
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า หนทางที่จะพึงไปด้วยกองเกวียน คือ ไม่สามารถจะไปได้ เว้นไว้
แต่ไปด้วยกองเกวียน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :349 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 7.สังวิธานสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในหนทางนั้น ปรากฏที่อยู่ ปรากฏที่กิน
ปรากฏที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร
ที่ชื่อว่า มีภัยน่ากลัว คือ ในหนทางนั้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกพวกโจรฆ่า
ปรากฏมีมนุษย์ถูกปล้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกทุบตี
ภิกษุพาไปตลอดทางที่มีภัยน่ากลัว พอเห็นที่ปลอดภัยพึงส่งภิกษุณีทั้งหลาย
ไปด้วยกล่าวว่า “พวกเธอจงไปเถิด”

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[184] ชักชวนกันแล้ว ภิกษุสำคัญว่าชักชวนกันแล้ว เดินทางไกลด้วยกัน
โดยที่สุดแม้ชั่วระยะหมู่บ้านหนึ่ง นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ชักชวนกันแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ เดินทางไกลด้วยกันโดยที่สุดแม้ชั่วระยะหมู่บ้าน
หนึ่ง นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ชักชวนกันแล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้ชักชวน เดินทางไกลด้วยกันโดยที่สุดแม้
ชั่วระยะหมู่บ้านหนึ่ง นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ภิกษุชักชวน ภิกษุณีไม่ได้ชักชวน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้ชักชวน ภิกษุสำคัญว่าชักชวน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้ชักชวน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้ชักชวน ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้ชักชวน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :350 }