เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 7.สังวิธานสิกขาบท พระบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้ชั่วละแวก
หมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุและภิกษุณีหลายรูป
[181] สมัยนั้น พวกภิกษุและพวกภิกษุณีหลายรูปจะเดินทางไกลจากเมือง
สาเกตไปกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
“พวกดิฉันจะขอเดินทางไปกับพระคุณเจ้าทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “น้องหญิงทั้งหลาย การชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกัน
กับภิกษุณีไม่สมควร พวกเธอจักไปก่อน หรือพวกเราจักไปก่อน”
ภิกษุณีทั้งหลายตอบว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นบุรุษผู้ล้ำเลิศ นิมนต์ล่วง
หน้าไปก่อนเถิด เจ้าข้า”
ครั้งนั้น เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นเดินทางไปภายหลัง พวกโจรจึงปล้นและทำร้ายใน
ระหว่างทาง ทีนั้น ครั้นภิกษุณีเหล่านั้นเดินทางถึงกรุงสาวัตถีจึงบอกเรื่องนั้นแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นจึงบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้เดินทางร่วมกัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย หนทางที่จะพึงไปด้วยกองเกวียน ที่รู้กัน
ว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัว เราอนุญาตให้ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับ
ภิกษุณีได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :348 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 7.สังวิธานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระอนุบัญญัติ
[182] อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับภิกษุณี โดยที่สุด
แม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ
เป็นหนทางที่จะพึงไปด้วยกองเกวียน ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัว นี้
เป็นสมัยในข้อนั้น
เรื่องภิกษุและนางภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[183] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนกันว่า พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวกเรา
ไปกันเถิด พระคุณเจ้า ไปกันเถิด พระคุณเจ้า พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวก
เราจะไปวันนี้ พรุ่งนี้ หรือวันมะรืนนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
คำว่า โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านหนึ่งกำหนดชั่วไก่บิน
ตก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ กึ่งโยชน์
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า หนทางที่จะพึงไปด้วยกองเกวียน คือ ไม่สามารถจะไปได้ เว้นไว้
แต่ไปด้วยกองเกวียน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :349 }