เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 5.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท พระบัญญัติ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอรับจีวรจากมือภิกษุณี จริงหรือ”
ท่านพระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้า” พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “อุทายี
นางเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุทายีทูลรับว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “โมฆบุรุษ บุรุษผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่
เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของสตรีผู้ไม่ใช่ญาติ เธอนั้นรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้
ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[509] ก็ ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา จบ

เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร
[510] สมัยนั้น พวกภิกษุรังเกียจไม่ยอมรับจีวรแลกเปลี่ยนของพวกภิกษุณี
พวกภิกษุณีตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระคุณเจ้าจึงไม่ยอมรับจีวร
แลกเปลี่ยนของพวกเราเล่า” พวกภิกษุได้ยินคำตำหนิประณามโพนทะนาของพวก
ภิกษุณีจึงนำความนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :34 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 5.จีวรปฏิคคหณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สหธรรมิก 5 คือ ภิกษุ ภิกษุณี
สิกขมานา สามเณร และสามเณรี แลกเปลี่ยนจีวรกันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้รับสิ่งของแลกเปลี่ยนของสหธรรมิก 5 เหล่านี้ได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[511] อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน
เรื่องแลกเปลี่ยนจีวร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[512] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร 6 ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน คือ ยกเว้นแลกเปลี่ยนกัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :35 }