เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 4.อามิสสิกขาบท นิทานวัตถุ
3. โอวาทวรรค

4. อามิสสิกขาบท
ว่าด้วยการสั่งสอนภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[164] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายสั่งสอน
พวกภิกษุณี ย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอน
ภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลายก็เพราะเห็นแก่
อามิส”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอนภิกษุณี
ทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลายก็เพราะเห็นแก่อามิสเล่า”
ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอกล่าวอย่างนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย
สั่งสอนภิกษุณีทั้งหลายก็เพราะเห็นแก่อามิส จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายไม่ตั้งใจสั่งสอน
ภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายสั่งสอนภิกษุณีทั้งหลายก็เพราะเห็นแก่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :335 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 4.อามิสสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
อามิสเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[165] ก็ ภิกษุใดกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ(ผู้เป็นเถระ)ทั้งหลายสั่งสอน
ภิกษุณีทั้งหลายเพราะเห็นแก่อามิส ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[166] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า เพราะเห็นแก่อามิส คือ เพราะเห็นแก่จีวร เพราะเห็นแก่บิณฑบาต
เพราะเห็นแก่เสนาสนะ เพราะเห็นแก่คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเห็นแก่สักการะ
เพราะเห็นแก่ความเคารพ เพราะเห็นแก่ความนับถือ เพราะเห็นแก่การกราบไหว้
เพราะเห็นแก่การบูชา
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุต้องการจะทำให้เสียชื่อ ต้องการจะทำให้
อัปยศ ต้องการจะทำอุปสัมบันที่สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณีให้เก้อเขิน จึง
กล่าวหาอย่างนี้ว่า “ภิกษุนั้นสั่งสอนเพราะเห็นแก่จีวร เพราะเห็นแก่บิณฑบาต
เพราะเห็นแก่เสนาสนะ เพราะเห็นแก่คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเห็นแก่
สักการะ เพราะเห็นแก่ความเคารพ เพราะเห็นแก่ความนับถือ เพราะเห็นแก่การ
กราบไหว้ เพราะเห็นแก่การบูชา” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :336 }