เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 1.โอวาทสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
5. เป็นที่นิยมชมชอบของพวกภิกษุณีโดยส่วนมาก
6. เป็นผู้สามารถสั่งสอนพวกภิกษุณีได้
7. เป็นผู้ไม่เคยประพฤติล่วงครุธรรมในสตรีผู้นุ่งห่มผ้ากาสายะบวชอุทิศพระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น1
8. เป็นผู้มีพรรษา 20 หรือเกินกว่า 20
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ 8 อย่างนี้ เป็นผู้สั่ง
สอนภิกษุณี”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[148] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ไม่ได้รับแต่งตั้ง คือ สงฆ์ยังไม่ได้แต่งตั้งด้วยญัตติจตุตถกรรม
ที่ชื่อว่า ภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ มาตุคามที่อุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย
คำว่า สั่งสอน ความว่า ภิกษุสั่งสอนครุธรรม 8 อย่าง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สั่งสอนธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ สั่งสอนภิกษุณีที่อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ
[149] ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งแล้วนั้นพึงกวาดบริเวณ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปูอาสนะ
ไว้ ชวนเพื่อนภิกษุไปนั่งด้วย
ภิกษุณีทั้งหลายพึงไปที่นั้น แล้วไหว้ภิกษุนั้น แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
1 ในสมัยที่เป็นคฤหัสถ์ก่อนบวช ไม่เคยจับต้องกายกับภิกษุณี ไม่เคยประพฤติผิดทางประเวณีกับสิกขมานา
หรือสามเณรี (วิ.อ. 2/145-147/319)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :321 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 3.โอวาทวรรค 1.โอวาทสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งแล้วนั้นพึงถามภิกษุณีทั้งหลายว่า “น้องหญิงทั้งหลาย
พวกเธอพร้อมเพรียงกันแล้วหรือ”
ถ้าพวกภิกษุณีตอบว่า “พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว เจ้าข้า”
พึงถามว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ครุธรรม 8 ข้อยังจำกันได้อยู่หรือ”
ถ้าพวกภิกษุณีตอบว่า “ยังจำกันได้อยู่ เจ้าข้า”
พึงกล่าวว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ธรรมนี่เป็นโอวาท” แล้วพึงมอบหมาย
ถ้าพวกภิกษุณีตอบว่า “จำกันไม่ได้ เจ้าข้า”
พึงสวดครุธรรมดังนี้ว่า

ครุธรรม 8 ข้อ
1. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ 100 พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ ต้อนรับ ทำ
อัญชลีกรรม ทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น ธรรมข้อนี้ภิกษุณี
พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
2. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
3. ภิกษุณีพึงหวังธรรม 2 อย่าง คือ ถามอุโบสถและไปรับโอวาทจากภิกษุ
สงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่
พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
4. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่าย โดยสถาน 3 คือ ได้เห็น
ได้ฟัง หรือได้นึกสงสัย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
5. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย ธรรมข้อนี้
ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
6. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่ายให้แก่สิกขมานาที่ศึกษา
ธรรม 6 ข้อตลอด 2 ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :322 }