เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 9.มหัลลกวิหารสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[135] ก็ ภิกษุจะสร้างวิหารหลังใหญ่ จะติดตั้งบานประตูใกล้วงกบประตู
และตบแต่งบานหน้าต่าง1 ควรยืนในที่ที่ปราศจากของเขียว ดำเนินการมุง
หลังคาได้ 2-3 ชั้น2 ถ้าเธอดำเนินการเกินกว่านั้น แม้จะยืนในที่ที่ปราศจาก
ของเขียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉันนะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[136] วิหารที่ชื่อว่า หลังใหญ่ ท่านกล่าวถึงวิหารที่มีเจ้าของ
ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบภายในหรือภายนอก หรือโบกฉาบ
ทั้งภายในภายนอก
คำว่า สร้าง คือ สร้างเอง หรือใช้คนอื่นสร้าง
คำว่า ใกล้วงกบประตู คือ ชั่วระยะหัตถบาสรอบวงกบ
คำว่า จะติดตั้งบานประตู คือ วางบานประตู
คำว่า ตบแต่งบานหน้าต่าง คือ ฉาบทาบานหน้าต่างให้มีสีขาว ให้มีสีดำ
ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร หรือ
เขียนลวดลายดอกจอก

เชิงอรรถ :
1 บานประตูและบานหน้าต่างวิหาร ต้องเปิด-ปิด เมื่อเปิดจะกระทบฝาผนังวิหาร เมื่อปิดจะกระทบวงกบ ทำ
ให้ฝาผนังสั่นสะเทือนจนดินเหนียวที่พอกฝาผนังกะเทาะตกลงมา พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ฉาบทา
พอกฝาผนังบริเวณใกล้ ๆ บานประตู บานหน้าต่างวิหารได้ เพื่อทำให้คงทนถาวร (วิ.อ. 2/13/311-312,
กงฺขา.อ. 244) เมื่อภิกษุพอกฝาผนังนอกจากบริเวณใกล้ ๆ บานประตูและบานหน้าต่างซ้ำเกิน 3 ครั้ง
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สารตฺถ.ฏีกา 3/135/40, วิมติ.ฏีกา 2/135/23, กงฺขา.ฏีกา 392)
2 ในการมุงหลังคาก็เช่นกัน ภิกษุเข้าใจว่า เมื่อมุงหลายครั้ง จะป้องกันฝนรั่วรดได้นาน จึงใช้อิฐ ศิลา
ปูนขาว หญ้า หรือใบไม้มุงหลังคา แต่จะมุงได้ไม่เกิน 3 ชั้น (วิ.อ. 2/135-136/312-313, สารตฺถ.
ฏีกา 3/135-136/40-41)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :310 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 9.มหัลลกวิหารสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า ยืนในที่ที่ปราศจากของเขียวดำเนินการมุงหลังคาได้ 2-3 ชั้น
ความว่า ที่ชื่อว่าของเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติและอปรัณชาติ1
ถ้าภิกษุยืนดำเนินการในที่ที่มีของเขียว ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเมื่อจะมุงตามแนว พึงดำเนินการ 2 แนว สั่งแนวที่ 3 แล้วจากไป
ภิกษุเมื่อจะมุงเป็นชั้น พึงดำเนินการ 2 รอบ สั่งรอบที่ 3 แล้วจากไป
[137] คำว่า ถ้าเธอดำเนินการเกินว่านั้น แม้จะยืนในที่ที่ปราศจากของ
เขียว ความว่า ภิกษุเมื่อมุงด้วยอิฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ก้อน เมื่อมุง
ด้วยแผ่นศิลา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ก้อน เมื่อมุงด้วยปูนขาว ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ ก้อน เมื่อมุงด้วยหญ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ กำหญ้า เมื่อ
มุงด้วยใบไม้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ใบ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
เกิน 2-3 ชั้น ภิกษุสำคัญว่าเกิน ดำเนินการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน 2-3 ชั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ดำเนินการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน 2-3 ชั้น ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ดำเนินการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
หย่อนกว่า 2-3 ชั้น ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า 2-3 ชั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า 2-3 ชั้น ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
1 บุพพัณชาติ ได้แก่ ธัญชาติ 7 อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว
และข้าวฟ่าง อปรัณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหาร (วิ.อ. 1/104/368,
สารตฺถ.ฏีกา 2/104/176)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :311 }