เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 7.นิกกัฑฒนสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากอนุปสัมบันออกจากวิหาร จากอุปจารวิหาร
จากโรงฉัน จากมณฑป จากโคนไม้ หรือจากที่กลางแจ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของอนุปสัมบันนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารของส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารของส่วนบุคคล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารของส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ
เพราะเป็นของส่วนบุคคลของผู้อื่น วิหารส่วนบุคคลของตน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[128] 1. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุอลัชชี
2. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุอลัชชี
3. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุวิกลจริต
4. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุวิกลจริต
5. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อ
ความทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อให้เกิดการทุ่มเถียง หรือก่อ
อธิกรณ์ในสงฆ์
6. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุผู้ก่อเหตุเหล่านั้น
7. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกผู้ไม่
ประพฤติโดยชอบ
8. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เช่นนั้น
9. ภิกษุวิกลจริต
10. ภิกษุต้นบัญญัติ

นิกกัฑฒนสิกขาบทที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :305 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 8.เวหาสกุฏิสิกขาบท นิทานวัตถุ
2. ภูตคามวรรค

8. เวหาสกุฏิสิกขาบท
ว่าด้วยกุฎีชั้นลอย

เรื่องภิกษุ 2 รูป
[129] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุ 2 รูปอยู่บนกุฎีชั้นลอย1 ใน
วิหารของสงฆ์ รูปหนึ่งอยู่ชั้นล่าง อีกรูปหนึ่งอยู่ชั้นบน รูปที่อยู่ชั้นบนนั่งอย่างแรงบน
เตียงชนิดที่มีเท้าเสียบ(ไม่มีลิ่มสลัก) เท้าเตียงตกโดนศีรษะรูปที่นั่งอยู่ชั้นล่างจนท่าน
ร้องลั่น ภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปหาแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่าน ท่านส่งเสียงทำไม”
ภิกษุรูปที่นั่งอยู่ชั้นล่างจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึงนั่ง
อย่างแรงบนเตียงมีเท้าเสียบบนกุฎีชั้นลอยในวิหารของสงฆ์เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลาย
ตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอนั่ง
อย่างแรงบนเตียงมีเท้าเสียบบนกุฎีชั้นลอยในวิหารของสงฆ์จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ
ไฉนเธอจึงนั่งอย่างแรงบนเตียงมีเท้าเสียบบนกุฎีชั้นลอยในวิหารของสงฆ์เล่า โมฆบุรุษ
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุ
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 กุฎีชั้นลอย คือกุฎีมีพื้น 2 ชั้นหรือ 3 ชั้น แต่มิได้ปูพื้นชั้นบน รอดที่คานสูงพอพ้นศีรษะ (วิ.อ. 2/
129-131/309-310), ภิกษุเอาเตียงซึ่งมิได้ใส่เดือยสลักเท้าเตียงวางพาด เมื่อนั่งอย่างแรง เท้าเตียง
จึงหลุดใส่ศีรษะภิกษุที่อยู่ชั้นล่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :306 }