เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 1.ปฐมกฐินสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
เรื่องพระอานนท์
[461] สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านต้องการจะถวาย
อติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่เมืองสาเกต ทีนั้น ท่าน
พระอานนท์ได้มีความคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุไม่
พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่านพระสารีบุตร
แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
พระอานนท์กราบทูลว่า “อีก 9 หรือ 10 วันจึงจะกลับมา พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตอติเรกจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรได้ 10 วันเป็น
อย่างมาก” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[462] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว1 ภิกษุพึงทรง
อติเรกจีวรไว้ได้ 10 วันเป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์2

เรื่องพระอานนท์ จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “กฐินเดาะ” ในที่นี้ตามศัพท์แปลว่า รื้อไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงผ้า หมายถึงยกเลิกอานิสงส์
กฐินที่ภิกษุพึงได้รับ (ดูเหตุให้กฐินเดาะ เชิงอรรถข้อ 463 หน้า 4)
2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คืออาบัติปาจิตตีย์ที่ภิกษุผู้ต้องแล้วเมื่อจะแสดงเทสนาบัติ จะต้องทำการสละวัตถุ
ก่อน จึงจะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัตินี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :3 }