เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 2.อัญญวาทกสิกขาบท นิทานวัตถุ
ให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงลงอัญญวาทกกรรม1 แก่ภิกษุฉันนะ
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงลงอัญญวาทกกรรมอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

กรรมวาจา
[95] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อฉันนะนี้ถูกไต่สวนอาบัติ
ท่ามกลางสงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว พึงลงอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุชื่อฉันนะ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อฉันนะนี้ถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลาง
สงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่ง สงฆ์จึงลงอัญญวาทกกรรม
แก่ภิกษุชื่อฉันนะ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการลงอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุชื่อฉันนะ
ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
อัญญวาทกกรรมสงฆ์ลงแก่ภิกษุชื่อฉันนะแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ทรงบัญญัติสิกขาบท
ทีนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการต่าง ๆ แล้วได้
ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “อัญญวาทกกรรม” ได้แก่ การลงโทษภิกษุที่แกล้งยกเรื่องอื่น ๆ มาพูดกลบเกลื่อนข้อหาที่ถูก
โจทไม่ให้การตามตรงเมื่อถูกสงฆ์สอบสวน เช่น ถูกพระวินัยธรถามว่า “ท่านต้องอาบัตินี้หรือ” ก็กล่าวว่า
“กระผมไปกรุงปาฏลีบุตรมา” เมื่อพระวินัยธรกล่าวอีกว่า “ไม่ได้ถามท่านเรื่องไปกรุงปาฏลีบุตร แต่ถาม
เรื่องอาบัติ” ก็กล่าวว่า “ต่อจากกรุงปาฏลีบุตร กระผมก็ไปกรุงราชคฤห์” (วิ.อ. 2/94/293, สารตฺถ.
ฏีกา 3/94-98/28-29)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :282 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 2.อัญญวาทกสิกขาบท พระบัญญัติ
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
[96] สมัยนั้น ท่านพระฉันนะถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ คิดว่า “เมื่อเรา
นำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งต้องอาบัติ” จึงนิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้
ลำบาก
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระฉันนะเมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ จึงนิ่งเสีย ทำสงฆ์ให้ลำบากเล่า” ครั้น
ภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถามพระฉันนะ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า
เธอเมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ กลับนิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้ลำบากจริงหรือ” ท่าน
พระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอเมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ จึงนิ่ง ทำสงฆ์ให้ลำบาก
เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้น
ทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้า
เช่นนั้น สงฆ์จงลงวิเหสกกรรม1 แก่ภิกษุฉันนะ
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงลงวิเหสกกรรมอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “วิเหสกกรรม” ได้แก่ การลงโทษภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือภิกษุประพฤติไม่สมควร สงฆ์เรียกตัว
มาถามกลับนิ่งเฉยไม่ตอบ สงฆ์จึงสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :283 }