เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 1.ภูตคามสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด
ข่า แฝก แห้วหมู หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่งเกิดที่เหง้า งอกที่เหง้า นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิด
จากเหง้า
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น ได้แก่ ต้นโพ ต้นไทร ต้นดีปลี ต้นมะเดื่อ
ต้นเต่าร้าง ต้นมะขวิด หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่งเกิดที่ลำต้น งอกที่ลำต้น นี้ชื่อว่า
พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากตา ได้แก่ อ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ หรือพืชพันธุ์อย่างอื่น
ซึ่งเกิดที่ตา งอกที่ตา นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิดจากตา
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง หรือ
พืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่งเกิดที่ยอด งอกที่ยอด นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิดจากยอด
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด ได้แก่ ข้าว ถั่ว งา หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่ง
เกิดที่เมล็ด งอกที่เมล็ด นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด

บทภาชนีย์
[92] พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นพืชพันธุ์ ตัด หรือใช้ให้ตัด ทำลาย หรือ
ใช้ให้ทำลาย ต้ม หรือใช้ให้ต้ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
พืชพันธุ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ตัด หรือใช้ให้ตัด ทำลาย หรือใช้ให้ทำลาย ต้ม หรือ
ใช้ให้ต้ม ต้องอาบัติทุกกฏ
พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่พืชพันธุ์ ตัด หรือใช้ให้ตัด ทำลาย หรือใช้ให้
ทำลาย ต้ม หรือใช้ให้ต้ม ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นพืชพันธุ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่พืชพันธุ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่พืชพันธุ์ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :279 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 2.ภูตคามวรรค 1.ภูตคามสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[93] 1. ภิกษุกล่าวว่า “ท่านจงรู้ จงให้ จงนำสิ่งนี้มา เราต้องการสิ่งนี้
ท่านจงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ”1
2. ภิกษุไม่จงใจ
3. ภิกษุไม่มีสติ
4. ภิกษุผู้ไม่รู้
5. ภิกษุวิกลจริต
6. ภิกษุต้นบัญญัติ

ภูตคามสิกขาบทที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 คือ ใช้ให้ผู้อื่นทำด้วยกล่าวว่า ท่านจงรู้พืชพันธุ์เกิดจากเหง้านี้ ท่านจงให้เหง้า หรือใบไม้นี้ ท่านจงนำต้น
ไม้หรือเถาวัลย์นี้มา ต้องการดอกไม้ ผลไม้ หรือใบไม้นี้ ท่านจงทำต้นไม้ เถาวัลย์ หรือผลไม้นี้ให้เป็นกัปปิยะ
คือให้เป็นของที่ควรใช้ (วิ.อ. 2/93/290)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :280 }