เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 4.ปุราณจีวรสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอใช้ภิกษุณีซักจีวรเก่า จริงหรือ”
พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงถามว่า “อุทายี นางเป็น
ญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุทายีทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ชายผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสม
หรือไม่เหมาะสม ความน่าเลื่อมใสหรือไม่น่าเลื่อมใสของหญิงผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ
เธอนั้น1 ใช้ภิกษุณีผู้ที่ไม่ใช่ญาติให้ซักจีวรเก่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[504] ก็ ภิกษุใดใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้ซัก ให้ย้อม หรือให้ทุบจีวรเก่า
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุทายีกับอดีตภรรยา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[505] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน2

เชิงอรรถ :
1 ตตฺถ เธอนั้น นี้เป็น ปจฺจตฺตกตฺวตฺถ หรือ กรณกตฺวตฺถ คือมีอรรถเป็นปฐมาวิภัตติ หรือตติยาวิภัตติ (ตตฺถ
นาม ตฺวนฺติ โส นาม ตฺวํ, ตาย นาม ตฺวนฺติ วา อตฺโถ - วิมติ. ฏีกา 1/503-5/417 แปลว่า เธอนั้น
หรือภิกษุณีนั้น ก็ได้)
2 เจ็ดชั่วคน คือวงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตกันมา นับตั้งแต่ตัวภิกษุขึ้นไป 3 ชั้น คือชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด
กับนับจากตัวภิกษุลงมาอีก 3 ชั้น คือชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วคน (วิ.อ. 2/503-5/
165-166)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :27 }