เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 4.ปุราณจีวรสิกขาบท นิทานวัตถุ
1. จีวรวรรค

4. ปุราณจีวรสิกขาบท
ว่าด้วยการให้ซักจีวรเก่า

เรื่องพระอุทายีกับอดีตภรรยา
[503] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อดีตภรรยาของท่านพระอุทายีบวช
อยู่ในสำนักภิกษุณี นางมาหาท่านพระอุทายีอยู่เสมอ แม้ท่านพระอุทายีก็ไปหา
นางอยู่เสมอ ก็ในสมัยนั้น ท่านพระอุทายีกระทำภัตกิจในที่อยู่ของนาง
เช้าวันหนึ่ง ท่านพระอุทายีครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรไปหานางถึงที่อยู่
เมื่อเข้าไปถึงแล้วก็นั่งบนอาสนะเปิดองคชาตต่อหน้าภิกษุณีนั้น แม้ภิกษุณีนั้นก็นั่งบน
อาสนะเปิดองค์กำเนิดต่อหน้าท่านพระอุทายีเช่นกัน ท่านพระอุทายีเกิดความ
กำหนัดเพ่งมององค์กำเนิดของนาง น้ำอสุจิของท่านพระอุทายีนั้นเคลื่อน ครั้นแล้ว
ท่านพระอุทายีจึงกล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “น้องหญิง เธอจงไปหาน้ำมา ฉันจะ
ซักอันตรวาสก”
นางตอบว่า “โปรดส่งมาเถิด ดิฉันจะซักให้”
ครั้นแล้วนางใช้ปากดูดอสุจิส่วนหนึ่ง และสอดอสุจิอีกส่วนหนึ่งเข้าในองค์
กำเนิด เพราะเหตุนั้นนางจึงได้ตั้งครรภ์
พวกภิกษุณีพูดว่า “ภิกษุณีนั้นไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์จึงตั้งครรภ์”
นางตอบว่า “แม่เจ้า ไม่ใช่ว่าดิฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์” แล้วบอกเรื่อง
นั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
พวกภิกษุณีพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงให้
ภิกษุณีซักจีวรเก่าให้เล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปบอกให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุทายีจึงให้ภิกษุณีซักจีวรเก่าให้เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพระอุทายี
โดยประการ ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :26 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 4.ปุราณจีวรสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอใช้ภิกษุณีซักจีวรเก่า จริงหรือ”
พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงถามว่า “อุทายี นางเป็น
ญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” พระอุทายีทูลตอบว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ชายผู้ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสม
หรือไม่เหมาะสม ความน่าเลื่อมใสหรือไม่น่าเลื่อมใสของหญิงผู้ไม่ใช่ญาติ โมฆบุรุษ
เธอนั้น1 ใช้ภิกษุณีผู้ที่ไม่ใช่ญาติให้ซักจีวรเก่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[504] ก็ ภิกษุใดใช้ภิกษุณีผู้ไม่ใช่ญาติให้ซัก ให้ย้อม หรือให้ทุบจีวรเก่า
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุทายีกับอดีตภรรยา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[505] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน2

เชิงอรรถ :
1 ตตฺถ เธอนั้น นี้เป็น ปจฺจตฺตกตฺวตฺถ หรือ กรณกตฺวตฺถ คือมีอรรถเป็นปฐมาวิภัตติ หรือตติยาวิภัตติ (ตตฺถ
นาม ตฺวนฺติ โส นาม ตฺวํ, ตาย นาม ตฺวนฺติ วา อตฺโถ - วิมติ. ฏีกา 1/503-5/417 แปลว่า เธอนั้น
หรือภิกษุณีนั้น ก็ได้)
2 เจ็ดชั่วคน คือวงศ์สกุลที่สืบสายโลหิตกันมา นับตั้งแต่ตัวภิกษุขึ้นไป 3 ชั้น คือชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด
กับนับจากตัวภิกษุลงมาอีก 3 ชั้น คือชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วคน (วิ.อ. 2/503-5/
165-166)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :27 }