เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 1.มุสาวาทวรรค 8.ภูตาโรจนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า “ทำ
อย่างไร เธอทั้งหลายจึงพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาผาสุก
และบิณฑบาตไม่ลำบาก”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีคุณวิเศษนั่น จริงหรือ” ภิกษุ
เหล่านั้นกราบทูลว่า “มีจริง พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึง
พากันกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันให้พวกคฤหัสถ์ฟังเพราะเห็นแก่ปาก
แก่ท้องเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[69] ก็ ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[70] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน ได้แก่ ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :255 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 1.มุสาวาทวรรค 8.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ
มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ความยินดี
ในเรือนว่าง
คำว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
คำว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
คำว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
คำว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
คำว่า ญาณทัสสนะ ได้แก่ วิชชา 3
คำว่า มรรคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4
อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8
คำว่า การทำผลให้แจ้ง ได้แก่ การทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง การทำ
สกทาคามิผลให้แจ้ง การทำอนาคามิผลให้แจ้ง การทำอรหัตตผลให้แจ้ง
คำว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
คำว่า ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ได้แก่ ภาวะที่จิตปลอดจากราคะ ภาวะ
ที่จิตปลอดจากโทสะ ภาวะที่จิตปลอดจากโมหะ
คำว่า ความยินดีในเรือนว่าง ได้แก่ ความยินดีในเรือนว่างด้วยปฐมฌาน
ความยินดีในเรือนว่างด้วยทุติยฌาน ความยินดีในเรือนว่างด้วยตติยฌาน ความ
ยินดีในเรือนว่างด้วยจตุตถฌาน

กล่าวอวดปฐมฌาน
[71] คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน
แล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :256 }