เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 1.มุสาวาทวรรค 4.ปทโสธัมมสิกขาบท นิทานวัตถุ
1. มุสาวาทวรรค

4. ปทโสธัมมสิกขาบท
ว่าด้วยการให้กล่าวธรรมเป็นบท ๆ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[44] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอนอุบาสก
ให้กล่าวธรรมแข่งกันเป็นบท ๆ พวกอุบาสกจึงไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ไม่ปฏิบัติให้
เหมาะสมในภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงสอนอุบาสกให้กล่าวธรรมแข่งกันเป็นบท ๆ เล่า พวกอุบาสก
จึงไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ไม่ปฏิบัติให้เหมาะสมในภิกษุทั้งหลาย” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอสอนอุบาสกให้
กล่าวธรรมแข่งกันเป็นบท ๆ พวกอุบาสกจึงไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ไม่ปฏิบัติให้เหมาะ
สมในภิกษุทั้งหลาย จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงสอน
อุบาสกให้กล่าวธรรมแข่งกันเป็นบท ๆ เล่า พวกอุบาสกจึงไม่เคารพ ไม่ยำเกรง
ไม่ปฏิบัติให้เหมาะสมในภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :233 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 1.มุสาวาทวรรค 4.ปทโสธัมมสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[45] ก็ ภิกษุใดสอนอนุปสัมบันให้กล่าวธรรมเป็นบท ๆ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[46] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ ยกเว้นภิกษุและภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน
ที่ชื่อว่า เป็นบท ๆ ได้แก่ กล่าวเป็นบท กล่าวเป็นอนุบท กล่าวเป็นอนุอักขระ
กล่าวเป็นอนุพยัญชนะ
ที่ชื่อว่า กล่าวเป็นบท คือ ภิกษุกับอนุปสัมบันเริ่มสวดพร้อมกัน จบลง
พร้อมกัน
ที่ชื่อว่า กล่าวเป็นอนุบท คือ เริ่มสวดแยกกัน แต่จบลงพร้อมกัน
ที่ชื่อว่า กล่าวเป็นอนุอักขระ คือ เมื่อภิกษุสอนว่า “รูปํ อนิจฺจํ” แต่
อนุปสัมบันสวดพร้อมกันว่า1 “รู” แล้วหยุด
ที่ชื่อว่า กล่าวเป็นอนุพยัญชนะ คือ ภิกษุสอนให้ว่า “รูปํ อนิจฺจํ” แต่
อนุปสัมบันเปล่งเสียงรับพร้อมกัน1ว่า “เวทนา อนิจฺจา”
บท อนุบท อนุอักขระ อนุพยัญชนะ ทั้งหมดนี้ชื่อว่าธรรมเป็นบท ๆ
ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ พุทธภาษิต สาวกภาษิต ฤๅษีภาษิต เทวดาภาษิต ที่
ประกอบด้วยอรรถ ที่ประกอบด้วยธรรม

เชิงอรรถ :
1 คือเปล่งเสียงรับพร้อมกันกับภิกษุผู้สอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :234 }