เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 1.มุสาวาทวรรค 2.โอมสวาทสิกขาบท นิทานวัตถุ
ตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลดีงาม
กล่าวเสียดสีภิกษุผู้มีศีลดีงาม ด่า สบประมาทด้วยชาติกำเนิดบ้าง ด้วยชื่อบ้าง ด้วย
ตระกูลบ้าง ด้วยหน้าที่การงานบ้าง ด้วยศิลปวิทยาบ้าง ด้วยความเจ็บไข้บ้าง ด้วย
รูปลักษณ์บ้าง ด้วยกิเลสบ้าง ด้วยอาบัติบ้าง ด้วยคำด่าที่หยาบบ้างเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อม
ใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

โคนันทิวิสาล
[13] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พราหมณ์คนหนึ่งในเมืองตักกสิลา
มีโคถึกชื่อนันทิวิสาล ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โคถึกชื่อนันทิวิสาลได้กล่าวกับ
พราหมณ์นั้นดังนี้ว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปทำการพนันเอาทรัพย์ 1,000
กหาปณะกับเศรษฐีว่า โคถึกของเราจะลากเกวียน 100 เล่มที่ผูกติดกันไปได้”
ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้น พราหมณ์ได้ไปทำการพนันเอาทรัพย์ 1,000 กหาปณะ
กับเศรษฐีด้วยกล่าวว่า “โคถึกของเราจะลากเกวียน 100 เล่มที่ผูกติดกันไปได้”
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพราหมณ์นั้นก็ผูกเกวียน 100 เล่มเทียมโคถึกนันทิวิสาล
แล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า “เจ้าโคโกง แกจงฉุด เจ้าโคโกง แกจงลากไป”
ครั้งนั้นแล โคถึกนันทิวิสาลได้ยืนนิ่งเฉยอยู่ ณ ที่นั้นเอง พราหมณ์นั้นแพ้พนัน
เสียทรัพย์ 1,000 กหาปณะ เศร้าซึมไป
ต่อมา โคถึกนันทิวิสาลได้กล่าวกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า “ท่านพราหมณ์ เหตุ
ไรท่านจึงเศร้าซึม”
พราหมณ์ตอบว่า “ก็เพราะเจ้าทำให้เราต้องแพ้เสียทรัพย์ไปถึง 1,000
กหาปณะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :200 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 1.มุสาวาทวรรค 2.โอมสวาทสิกขาบท พระบัญญัติ
โคถึกนันทิวิสาลกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านเรียกข้าพเจ้าผู้ไม่โกงด้วยคำว่า
โกงทำไมเล่า ท่านจงไปทำการพนันเอาทรัพย์ 2,000 กหาปณะกับเศรษฐีด้วย
กล่าวว่า ‘โคถึกของเราจะลากเกวียน 100 เล่มที่ผูกติดกันไปได้’ แต่ท่านอย่าเรียก
ข้าพเจ้าผู้ไม่โกงด้วยคำว่าโกง”
พราหมณ์จึงไปพนันเอาทรัพย์ 2,000 กหาปณะกับเศรษฐีด้วยกล่าวว่า
“โคถึกของเราจะลากเกวียน 100 เล่มที่ผูกติดกันไปได้” ภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้ว
พราหมณ์นั้นก็ผูกเกวียน 100 เล่ม เทียมโคนันทิวิสาลแล้ว จึงได้กล่าวดังนี้ว่า
“พ่อมหาจำเริญ เชิญฉุดไป พ่อมหาจำเริญ เชิญลากไปเถิด” ครั้งนั้นแล โคถึก
นันทิวิสาลได้ลากเกวียน 100 เล่มที่ผูกติดกันไปแล้ว
บุคคลพึงกล่าวคำไพเราะ
ไม่พึงกล่าวคำไม่ไพเราะ ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ
โคถึกโคนันทิวิสาลก็ลากเกวียนหนักไปได้
ทำให้พราหมณ์ได้ทรัพย์
ตนเองก็ดีใจที่พราหมณ์ได้ทรัพย์
เพราะการกระทำของตนนั้น1
ภิกษุทั้งหลาย คำด่า คำสบประมาทไม่เป็นที่พอใจของเราแม้ในกาลนั้น
ไฉนบัดนี้ คำด่า คำสบประมาทจะเป็นที่พอใจเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[14] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ชา. 27/28/7

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :201 }