เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 3.ตติยกฐินสิกขาบท พระบัญญัติ
[498] ต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้รับผ้า
ที่เป็นอกาลจีวรเก็บไว้ได้โดยมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม จึงรับผ้าที่เป็นอกาลจีวร
เก็บไว้เกิน 1 เดือน ผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อ ๆ แขวนไว้ที่ราว
ท่านพระอานนท์เที่ยวไปตามเสนาสนะ เห็นผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อ ๆ
แขวนไว้ที่ราว จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า “ผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อ ๆ แขวนไว้ที่
ราว เป็นของใคร”
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “ผ้าเหล่านี้เป็นอกาลจีวร พวกกระผมเก็บไว้โดยความ
หวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม”
พระอานนท์ถามว่า “เก็บไว้นานเท่าไร”
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “เก็บไว้เกิน 1 เดือน ขอรับ”
พระอานนท์ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงรับผ้าที่เป็น
อกาลจีวรเก็บไว้เกิน 1 เดือนเล่า” ครั้นท่านตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับผ้าที่เป็น
อกาลจีวรเก็บไว้เกิน 1 เดือน จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงรับผ้าที่เป็นอกาลจีวรแล้วเก็บไว้เกิน 1 เดือนเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[499] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้น
แก่ภิกษุ ภิกษุต้องการก็พึงรับไว้ได้ ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำเป็นจีวร ถ้าผ้านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :20 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 3.ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
มีไม่พอ เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้าสำหรับทำจีวรนั้น
ไว้ไม่เกิน 1 เดือน เพื่อเพิ่มผ้าสำหรับทำจีวรที่ยังขาดให้ครบ ถ้าเก็บเกินกำหนด
นั้น แม้มีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรับอกาลจีวร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[500] คำว่า เมื่อจีวร...สำเร็จแล้ว หมายความว่า จีวรของภิกษุทำเสร็จ
แล้ว สูญหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้เสียแล้ว หรือภิกษุหมดหวังว่าจะได้ผ้ามา
เย็บเป็นจีวร
คำว่า เมื่อกฐินเดาะแล้ว หมายความว่า กฐินเดาะด้วยมาติกาอย่างใดอย่าง
หนึ่งในมาติกา 8 หรือสงฆ์เดาะกฐินในระหว่าง
ที่ชื่อว่า อกาลจีวร ได้แก่ ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด 11 เดือน ในเมื่อไม่ได้กรานกฐิน
ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด 7 เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว แม้ผ้าที่เขาถวายเจาะจงในกาล
นี้ชื่อว่า อกาลจีวร1
คำว่า เกิดขึ้น คือ เกิดจากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร หรือที่เป็นผ้า
บังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน
คำว่า ต้องการ คือ เมื่อต้องการก็รับไว้
คำว่า ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำ คือ พึงให้ทำเสร็จภายใน 10 วัน
คำว่า ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ คือ ผ้าไม่เพียงพอที่จะทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง
คำว่า ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้าสำหรับทำจีวรนั้นไว้ไม่เกิน 1 เดือน คือ เก็บไว้ได้
1 เดือนเป็นอย่างมาก

เชิงอรรถ :
1 คือ (1) ตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของปีถัดไปสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐิน
รวมเป็น 11 เดือน (2) ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในปีเดียวกัน สำหรับผู้ได้
กรานกฐิน รวมเป็น 7 เดือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :21 }