เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 1.ปฐมกฐินสิกขาบท พระบัญญัติ
โดยครองไตรจีวร 1ไตร อยู่ในอารามอีก 1 ไตร สรงน้ำอีก 1 ไตร บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา พากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทรงอติเรกจีวร1เล่า” ครั้นภิกษุ
เหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอทรงอติเรกจีวร
จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อย
ตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงทรงอติเรก
จีวรเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[460] ก็ ภิกษุใดทรงอติเรกจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์2
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
1 อติเรกจีวร คือผ้าส่วนเกินที่เขาถวายภิกษุเพิ่มเข้ามาจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร
2 ที่แปลว่า “ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์” นี้เป็นไปตามนัยอธิบายแห่งอรรถกถาว่า “นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ,
ตญฺจ จีวรํ นิสฺสคฺคิยํ โหติ, ปาจิตฺติยาปตฺติ จสฺส โหติ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือจีวรเป็น
นิสสัคคีย์ต้องสละ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์” (วิ.อ. 2/462-463/142, กงฺขา.อ. 186)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :2 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 1.ปฐมกฐินสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
เรื่องพระอานนท์
[461] สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านต้องการจะถวาย
อติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่เมืองสาเกต ทีนั้น ท่าน
พระอานนท์ได้มีความคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุไม่
พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่านพระสารีบุตร
แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
พระอานนท์กราบทูลว่า “อีก 9 หรือ 10 วันจึงจะกลับมา พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตอติเรกจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรได้ 10 วันเป็น
อย่างมาก” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[462] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว1 ภิกษุพึงทรง
อติเรกจีวรไว้ได้ 10 วันเป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์2

เรื่องพระอานนท์ จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “กฐินเดาะ” ในที่นี้ตามศัพท์แปลว่า รื้อไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงผ้า หมายถึงยกเลิกอานิสงส์
กฐินที่ภิกษุพึงได้รับ (ดูเหตุให้กฐินเดาะ เชิงอรรถข้อ 463 หน้า 4)
2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ คืออาบัติปาจิตตีย์ที่ภิกษุผู้ต้องแล้วเมื่อจะแสดงเทสนาบัติ จะต้องทำการสละวัตถุ
ก่อน จึงจะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัตินี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :3 }