เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 10.ปริณตสิกขาบท อนาปัตติวาร
ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อเจดีย์ ภิกษุน้อมมาเพื่อเจดีย์อื่น เพื่อสงฆ์ เพื่อคณะหรือ
เพื่อบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ
ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อบุคคล ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคลอื่น เพื่อสงฆ์ เพื่อคณะ
หรือเพื่อเจดีย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขาน้อมไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้น้อมไว้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[661] 1. ภิกษุถูกทายกถามว่า “จะถวายที่ไหน” จึงแนะนำว่า “ไทยธรรม
ของพวกท่านพึงได้รับการใช้สอย ได้รับการปฏิสังขรณ์ หรืออยู่
ได้นานในที่ใด หรือท่านมีจิตเลื่อมใสในที่ใด จงถวายในที่นั้นเถิด”
2. ภิกษุวิกลจริต
3. ภิกษุต้นบัญญัติ

ปริณตสิกขาบทที่ 10 จบ
ปัตตวรรคที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :183 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] บทสรุป
รวมสิกขาบทที่มีในปัตตวรรค คือ
ปัตตวรรคมี 10 สิกขาบท คือ

1. ปัตตสิกขาบท ว่าด้วยบาตร
2. อูนปัญจพันธนสิกขาบท ว่าด้วยบาตรมีรอยซ่อมหย่อนกว่า 5 แห่ง
3. เภสัชชสิกขาบท ว่าด้วยเภสัช
4. วัสสิกสาฏิกสิกขาบท ว่าด้วยผ้าอาบน้ำฝน
5. จีวรอัจฉินทนสิกขาบท ว่าด้วยการให้จีวรแล้วชิงเอาคืน
6. สุตตวิญญัตติสิกขาบท ว่าด้วยการออกปากขอด้าย
7. มหาเปสการสิกขาบท ว่าด้วยการสั่งช่างหูกทอจีวร
8. อัจเจกจีวรสิกขาบท ว่าด้วยอัจเจกจีวร
9. สาสังกสิกขาบท ว่าด้วยเสนาสนะป่าที่น่าหวาดระแวง
10. ปริณตสิกขาบท ว่าด้วยการน้อมลาภ

บทสรุป
[662] ท่านทั้งหลาย ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท ข้าพเจ้า
ยกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบทเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ 2 ว่า “ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ 3 ว่า “ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบทนี้ เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

นิสสัคคิยกัณฑ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :184 }