เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 2. อุทโทสิตสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรไม่อยู่ปราศ ภิกษุสำคัญว่าอยู่ปราศแล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรไม่อยู่ปราศ ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรไม่อยู่ปราศ ภิกษุสำคัญว่าไม่อยู่ปราศ ใช้สอย ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[496] 1. ภิกษุผู้ถอนภายในอรุณ
2. ภิกษุผู้สละให้ไป
3. ภิกษุผู้มีจีวรสูญหาย
4. ภิกษุผู้มีจีวรฉิบหาย
5. ภิกษุผู้มีจีวรถูกไฟไหม้
6. ภิกษุผู้มีจีวรถูกโจรชิงเอาไป
7. ภิกษุผู้มีจีวรถูกถือเอาไปโดยวิสาสะ
8. ภิกษุได้รับสมมติ
9. ภิกษุวิกลจริต
10. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุทโทสิตสิกขาบทที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :18 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 1.จีรวรรค 3.ตติยกฐินสิกขาบท นิทานวัตถุ
1. จีวรวรรค

3. ตติยกฐินสิกขาบท
ว่าด้วยกฐินเดาะข้อที่ 3

เรื่องภิกษุรับอกาลจีวร
[497] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อกาลจีวร1 ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุรูป
หนึ่ง ท่านจะทำจีวรแต่ผ้าไม่พอ จึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นเธอพยายามดึงผ้านั้นให้
ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น ครั้นถึงแล้วตรัสถามว่า “เธอ
พยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง เพื่ออะไร”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ผ้าที่เป็นอกาลจีวร ครั้นจะทำจีวรผ้าไม่พอ
ดังนั้นจึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอมีความหวังจะได้ผ้าสำหรับทำจีวร
อีกหรือ”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “มีความหวัง พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตอกาลจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “เราอนุญาตให้รับผ้าที่เป็นอกาลจีวรแล้วเก็บไว้โดยมีความหวัง
ว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม”

เชิงอรรถ :
1 อกาลจีวร หมายถึงผ้าสำหรับทำจีวรที่เกิดขึ้นนอกฤดูกาล คือนอกกาลที่ภิกษุจะพึงรับผ้าผืนที่ 4 นอก
จากไตรจีวรเก็บไว้ได้ (ดูเชิงอรรถ ข้อ 500 หน้า 21 ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :19 }