เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 9.สาสังกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุเก็บไตรจีวรผืนใด
ผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านแล้วอยู่ปราศเกิน 6 คืน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
โมฆบุรุษเหล่านั้นจึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านแล้วอยู่ปราศเกิน 6 คืน
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้ ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[653] ก็ ภิกษุจำพรรษาแล้วหวังจะอยู่ในเสนาสนะป่าที่รู้กันว่าน่าหวาด
ระแวง มีภัยน่ากลัวเช่นนั้น จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 พึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืน
หนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และภิกษุนั้นควรมีปัจจัยบางอย่างเพื่อการอยู่ปราศ
จากจีวรนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ 6 คืนเป็นอย่างมาก ถ้าอยู่ปราศ
เกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้รับสมมติ
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[654] คำว่า ก็...จำพรรษาแล้ว คือ ออกพรรษาแล้ว
คำว่า วันเพ็ญเดือน 12 พระผู้มีพระภาคตรัสว่าตรงกับวันปุรณมีดิถีที่ 4
ในกัตติกามาส
คำว่า เสนาสนะป่า ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่าป่า มีระยะ 500 ชั่วธนู
เป็นอย่างต่ำ
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม ปรากฏที่อยู่
ปรากฏที่กิน ปรากฏที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :174 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 9.สาสังกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า มีภัยน่ากลัว คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม ปรากฏมีมนุษย์
ถูกพวกโจรฆ่า ปรากฏมีมนุษย์ถูกปล้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกทุบตี
คำว่า ภิกษุ...จะอยู่ในเสนาสนะป่าเช่นนั้น ความว่า ภิกษุยับยั้งอยู่ใน
เสนาสนะเช่นนั้น
คำว่า หวัง คือ ปรารถนา
คำว่า ไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ได้แก่ สังฆาฏิ อุตตราสงค์หรืออันตรวาสก
คำว่า พึงเก็บไว้ในละแวกบ้านได้ คือ เก็บไว้ในโคจรคามโดยรอบ
คำว่า ภิกษุนั้นควรมีปัจจัยบางอย่างเพื่อการอยู่ปราศจากจีวรนั้น คือ มี
เหตุผลหรือกรณียกิจ
คำว่า ภิกษุพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ 6 คืนเป็นอย่างมาก ความว่า อยู่
ปราศได้เพียง 6 คืนเป็นอย่างมาก
คำว่า เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ ยกเว้นภิกษุที่ได้รับสมมติ
คำว่า ถ้าอยู่ปราศเกินกว่ากำหนดนั้น ความว่า เมื่อรุ่งอรุณวันที่ 7 มาถึง
จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้ของ
กระผมอยู่ปราศเกิน 6 คืน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละ
แล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :175 }