เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 9.สาสังกสิกขาบท นิทานวัตถุ
3. ปัตตวรรค

9. สาสังกสิกขาบท
ว่าด้วยเสนาสนะป่าที่น่าหวาดระแวง

เรื่องภิกษุหลายรูป
[652] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายเมื่อออกพรรษา
ปวารณาแล้วยังอยู่ในเสนาสนะป่า กลุ่มกัตติกโจร1 เข้าใจว่า “พวกภิกษุมีลาภ” จึง
เข้าปล้น พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตภิกษุให้เก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะป่าเก็บไตร
จีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้”
สมัยนั้น พวกภิกษุทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ใน
เสนาสนะป่าเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้” จึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืน
หนึ่งไว้ในละแวกบ้านอยู่ปราศเกิน 6 คืน จีวรเหล่านั้นสูญหายบ้าง ฉิบหายบ้าง
ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง ภิกษุเหล่านั้นมีผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ ภิกษุทั้งหลาย
กล่าวอย่างนี้ว่า “เหตุใดพวกท่านมีผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ ” ทีนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึง
บอกเรื่องนั้นให้ทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้าน แล้วอยู่ปราศเกิน 6 คืนเล่า”
ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 กตฺติกโจรกาติ กตฺติกมาเส โจรา หมายถึงพวกโจรเดือน 12 (วิ.อ. 2/652/247)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :173 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 9.สาสังกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุเก็บไตรจีวรผืนใด
ผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านแล้วอยู่ปราศเกิน 6 คืน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
โมฆบุรุษเหล่านั้นจึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านแล้วอยู่ปราศเกิน 6 คืน
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้ ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[653] ก็ ภิกษุจำพรรษาแล้วหวังจะอยู่ในเสนาสนะป่าที่รู้กันว่าน่าหวาด
ระแวง มีภัยน่ากลัวเช่นนั้น จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 พึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืน
หนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และภิกษุนั้นควรมีปัจจัยบางอย่างเพื่อการอยู่ปราศ
จากจีวรนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ 6 คืนเป็นอย่างมาก ถ้าอยู่ปราศ
เกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้รับสมมติ
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[654] คำว่า ก็...จำพรรษาแล้ว คือ ออกพรรษาแล้ว
คำว่า วันเพ็ญเดือน 12 พระผู้มีพระภาคตรัสว่าตรงกับวันปุรณมีดิถีที่ 4
ในกัตติกามาส
คำว่า เสนาสนะป่า ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่าป่า มีระยะ 500 ชั่วธนู
เป็นอย่างต่ำ
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม ปรากฏที่อยู่
ปรากฏที่กิน ปรากฏที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :174 }