เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 8.อัจเจกจีวรสิกขาบท พระบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “อัจเจกจีวรของพวกกระผม”
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านเก็บจีวรเหล่านี้ไว้นานกี่
วันแล้ว” ภิกษุเหล่านั้นบอกพระอานนท์ตามที่ได้เก็บไว้
ท่านพระอานนท์ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำไมภิกษุทั้งหลายรับอัจเจก
จีวรแล้วเก็บไว้จนเกินสมัยจีวรกาลเล่า” ครั้นพระอานนท์ตำหนิพวกภิกษุเหล่านั้น
โดยประการต่าง ๆ แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุรับอัจเจกจีวรเก็บไว้จนเกินสมัย
จีวรกาล จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงรับอัจเจกจีวรเก็บไว้จนเกิน
สมัยจีวรกาลเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[648] ก็ เมื่อยังเหลืออีก 10 วันจึงจะถึงวันเพ็ญเดือน 11 ซึ่งเป็นวัน
ครบไตรมาส1 อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุรู้อยู่ว่าเป็นอัจเจกจีวรพึงรับไว้
ครั้นรับไว้แล้วควรเก็บไว้ได้ชั่วสมัยที่เป็นจีวรกาล ถ้าเก็บไว้เกินกำหนดนั้น ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องมหาอมาตย์ถวายผ้าจำนำพรรษา จบ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันที่ครบ 3 เดือน นับแต่วันเข้าพรรษา (ดูข้อ 649 หน้า 169)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :168 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 8.อัจเจกจีวรสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[649] คำว่า เมื่อยังเหลืออีก 10 วัน คือ อีก 10 วันจะถึงวันปวารณา
คำว่า วันเพ็ญเดือน 11 ซึ่งเป็นวันครบไตรมาส ท่านกล่าวหมายเอาวัน
ปวารณาเดือน 11
ที่ชื่อว่า อัจเจกจีวร อธิบายว่า ผู้ประสงค์จะไปในกองทัพ ประสงค์จะไป
พักแรมต่างถิ่น เจ็บไข้ สตรีมีครรภ์ ผู้ไม่มีศรัทธาได้เกิดศรัทธาขึ้นหรือผู้ไม่เลื่อมใส
ได้เกิดความเลื่อมใสขึ้น ถ้าเขาส่งทูตไปถึงภิกษุว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายมา
เถิด ข้าพเจ้าจะถวายผ้าจำนำพรรษา” ผ้าเช่นนี้ชื่อว่าอัจเจกจีวร
คำว่า รู้อยู่ว่าเป็นอัจเจกจีวรพึงรับไว้ ครั้นรับไว้แล้วควรเก็บไว้ได้ชั่วสมัยที่
เป็นจีวรกาล คือ ภิกษุพึงทำเครื่องหมายว่า “นี้คืออัจเจกจีวร” แล้วเก็บไว้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นจีวรกาล คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐินมีเวลาท้ายฤดูฝน 1
เดือน เมื่อกรานกฐินแล้ว ขยายเวลาออกไปอีกเป็น 5 เดือน
คำว่า ถ้าเก็บไว้เกินกำหนดนั้น คือ เมื่อไม่กรานกฐิน ให้เกินวันสุดท้ายฤดูฝน
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เมื่อได้กรานกฐินแล้วเก็บไว้เลยวันกฐินเดาะ เป็น
นิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละอัจเจกจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละอัจเจกจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้
แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้
กระผมทำให้เกินสมัยที่เป็นจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอัจเจกจีวรผืนนี้แก่
สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนอัจเจกจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า อัจเจกจีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็น
นิสสัคคีย์ เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้อัจเจกจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :169 }