เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 7.มหาเปสการสิกขาบท นิทานวัตถุ
ครั้นช่างหูกนำด้ายตามที่เขาส่งมาเข้าเครื่องทอ จึงเข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับหญิงนั้นว่า “กระผมต้องการด้าย ขอรับ”
หญิงนั้นกล่าวว่า “ดิฉันสั่งคุณแล้วมิใช่หรือว่า ‘จงเอาด้ายนี้ทอจีวร”
ช่างหูกตอบว่า “จริง ขอรับแม่เจ้า ท่านสั่งกระผมว่า ‘จงเอาด้ายนี้ทอจีวร’ แต่
พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เอาเถอะ ท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง
และให้เนื้อแน่น ไม่ต้องกังวลเรื่องด้าย” หญิงนั้นจึงให้ด้ายเพิ่มเท่ากับที่ให้คราวแรก
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทราบว่า “ชายคนนั้นกลับมาจากการค้างคืน
ต่างถิ่น” จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ชายนั้นเข้าไป
หาท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงที่นั่ง ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ถาม
ภรรยาว่า “จีวรทอเสร็จแล้วหรือ” ภรรยาตอบว่า “เสร็จแล้ว” เขาสั่งว่า “เธอจงนำ
มา ฉันจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรให้ครองจีวร” ภรรยานำจีวรผืนนั้น
ออกมาให้สามีแล้วเล่าเรื่องให้ทราบ ชายนั้นถวายจีวรนั้นแก่ท่านพระอุปนันทศากย
บุตรแล้วตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มักมาก
ไม่สันโดษ จะนิมนต์ให้ครองจีวร มิใช่จะทำได้ง่าย ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตร
ที่เราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงเข้าไปหาช่างหูกแล้วกำหนดจีวรเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรที่เขาไม่ได้
ปวารณาไว้ก่อน จึงเข้าไปหาช่างหูกแล้วกำหนดจีวรเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ
ท่านอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน
แต่เธอเข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์แล้วกำหนดจีวร จริงหรือ” ท่านพระ
อุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
“อุปนันทะ เขาเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลตอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :162 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [4.นิสสัคคิยกัณฑ์] 3.ปัตตวรรค 7.มหาเปสการสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้
ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของผู้ไม่ใช่
ญาติ เธอนั้น1 ซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่
ญาติแล้ว กำหนดจีวรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[642] ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ สั่งช่างหูกให้ทอจีวร
เจาะจงภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้วกำหนด
ชนิดจีวรในสำนักของเขาว่า “ท่าน จีวรผืนนี้เขาให้ทอเจาะจงอาตมา ท่านจง
ทำให้ยาว ท่านจงทำให้กว้าง ให้เนื้อแน่น ขึงให้ดี ทอให้ดี สางให้ดี และกรีดให้ดี
เอาเถอะ อาตมาจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน” ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
ถ้าภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้แต่อาหารบิณฑบาต ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[643] คำว่า ก็...เจาะจงภิกษุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ มุ่ง
เฉพาะภิกษุ ปรารถนาจะให้ภิกษุครองจีวร
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา
ตลอดเจ็ดชั่วคน
ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน

เชิงอรรถ :
1 ตตฺถ เธอนั้นนี้เป็น ปจฺจตฺตกตฺวตฺถ คือมีอรรถเป็นกัตตา ผู้กระทำ ปฐมาวิภัตติ (ตตฺถ นาม ตฺวนฺติ
โส นาม ตฺวํ - วิมติ. ฏีกา 1/503-5/417)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :163 }